ผมเพิ่งได้รับอนุญาตให้ไปขึ้นเรือ Energy Observer ซึ่งเป็นเรือสัญชาติฝรั่งเศส อยู่ระหว่างแล่นทำสถิติรอบโลก และแวะมาจอดพักเรืออยู่ที่ Racer มารีน่า แถวปราณบุรีครับ
ปกติ ผมไม่สู้จะสนใจเรื่องเรือหรู แต่พอได้ทราบจาก คุณตั้ว สืบตระกูล บินเทพ เจ้าของเรือไม้ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่เคยพาผมและคณะผู้พิการวีลแชร์ชมคลองอ้อมนนท์ ว่าสามารถประสานเวลาให้ผมไปชมเรือที่ ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และกำลังเดินทางรอบโลกโดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย
ผมจึงไม่ลังเลที่จะรับคำเชิญแล้วบึ่งจากกรุงเทพไปขอชมระบบบนเรือชื่อ Energy Observer ให้ทัน ก่อนเรือจะบ่ายโฉมออกจากประเทศไทย ผ่านเกาะสมุยในวันถัดไปแล้วมุ่งสู่ท่าฟูก้วกของเวียดนาม เพื่อไปต่ออีกไกล
โอกาสจะได้เจอเรือนี้อีกที คงต้องหวังเอาตอนปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค ในปี2024โน่นล่ะ ที่เรือจะแล่นรอบโลกกลับถึงอู่ที่เมือง Saint Malo ของฝรั่งเศสพอดี
โครงการแล่นเรือลำนี้นี้รอบโลก ก็เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็น ว่าการเดินทางรอบโลกโดยไม่ใช้น้ำมันเลย ไม่มีท่อไอเสียปล่อยอะไรออกมาเลย นอกจากก๊าซออกซิเจนนั้น
ทำได้!!
เรารู้ว่า ไฮโดรเจน 2 โมเลกุลเมื่อผสมกับออกซิเจนอีก 1 โมเลกุล จะได้’’น้ำบริสุทธิ์’’
ในทางกลับกัน หากนำน้ำไปผ่านวิธี electrolysis หรือการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า เราจะได้ผลลัพธ์เป็นก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนแยกกันออกมา
ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีน้ำหนักเบา สามารถให้พลังงานสูงกว่าน้ำมันถึง 3 เท่า
เรือเพรียวลมทรงทันสมัยกว้างเกือบ 13×30เมตรลำนี้ แม้ติดถังเก็บไฮโดรเจนได้เพียง63 กิโลกรัมก็จริง แต่ปริมาณไฮโดรเจนเท่านี้ ก็เพียงพอจะผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้บ้านอาศัยขนาด 4 คนอยู่ใช้ชีวิตไปนานถึง 40 วันทีเดียว
อย่างไรก็ดี เมื่อนำระบบมาลงใช้ในเรือที่ติดเครื่องไปในทะเล ใช้ไฟฟ้าหุงหาอาหาร ใช้ไฟฟ้าแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด อาบน้ำอุ่น เปิดแอร์ จ่ายแสงสว่าง ควบคุมสมองกลของคอมพิวเตอร์ ตลอด24ชม. ไฮโดรเจน 63 กิโลกรัมนี้ สามารถดูแลเรือพร้อมลูกเรือ 4 และกัปตันอีก1 รวม5 คน ไปได้ ราวสองสัปดาห์ !
ต่อให้ไม่มีแดดส่องมาโดนเรือเลยตลอดสองสัปดาห์นั้นก็เถอะ
ถ้ามองจากภายนอก เราอาจนึกไปว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่แปะอยู่ตามผิวเรือคือแหล่งพลังงานเดียวของเรือ
เปล่าครับ นั่นแค่ส่วนเดียว
เพราะแผงโซลาร์เซลล์ที่มีทั้งหมดนี้ เพียงพอจะให้ใช้ชีวิตบนเรือไปได้ราว สองวัน
ผมจึงถามสาวนักวิทยาศาสตร์ประจำเรือMiss Katia Nicolet ซึ่งจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ในฐานะเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ประจำเรือ ที่มาพาชมเรือว่า งั้นพลังงานในเรือมาจากไหนอีก เธออธิบายว่า แผงโซลาร์เซลล์สร้างกระแสไฟฟ้าเก็บเข้าแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่มีพลังเต็มที่ เรือจะดูดน้ำทะเลเข้ามาเข้าเครื่องelectrolysis โดยจะดึงเอาออกซิเจนออก ทิ้งออกซิเจนไปในอากาศ แล้วเก็บไฮโดรเจนที่สกัดออกมาได้เข้าถังบรรจุในเรือ
เรือคาร์บอนไฟเบอร์แบบสองท้องหรือ catamaran ลำนี้ต่อขึ้นที่แคนาดา ในปี1983 เพื่อใช้เข้าแข่งกีฬาเรือใบนานาชาติจนชนะรางวัลต่างๆ ต่อมาทำสถิติโลกในปี 1988 ด้วยการใช้เวลาต่ำกว่า 75 วันแล่นด้วยใบรอบโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก
ต่อมาเรือถูกเปลี่ยนเจ้าของ ในปี2013เป็นคนปัจจุบัน คือ คุณ Victorien Erussard นำเรือขึ้นอู่ดัดแปลงใส่ระบบปฏิบัติการวิจัยและวิทยาศาสตร์ต่างๆพร้อมกับปรับปรุงเรือให้ทำจากวัสดุรีไซเคิล จากนั้นเปลี่ยนใบเรือจากผ้าใบนุ่มๆมาเป็นใบแข็ง ซึ่งขนาดใบจะเล็กลงกว่าเดิมมาก แต่ให้ประสิทธิภาพในการจับลมได้ดีกว่า แถมไม่บังแสงอาทิตย์ที่ต้องการให้กระทบแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาติดอยู่ทั่วลำ ทั้งด้านบนดาดฟ้าที่แดดส่องถึงโดยตรง และด้านใต้แผงดาดฟ้าก็มีโซลาร์เซลล์รับแดดที่สะท้อนกลับขึ้นมาจากผิวน้ำทะเลด้วย
เก็บทุกเม็ด…ประมาณนั้น
เรือนี้กินน้ำลึก 3 เมตรเศษ เรือค่อนข้างหนัก คือ 30 ตัน เนื่องจากบรรทุกสารพัดอุปกรณ์สำหรับพลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ ทั้งพลังลม พลังไฮโดรเจน พลังแสงอาทิตย์ และพลังคลื่น
เพราะในวันที่ลมแรง หรือคลื่นดันเรือไปได้แรงๆ ใบจักรของเรือจะทำหน้าที่เป็นกังหันไดนาโม ปั่นไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่เติมไปได้ด้วย
เก็บทุกเม็ด…ยืนยัน
เรือลำนี้จึงเป็นมากกว่าเรือสวยดูเก๋ๆที่แล่นพาลูกเรือทีละ 5 คนท่องโลกไปชุดละ 6 สัปดาห์ จากนั้นลูกเรือทั้งลำจะผลัดมือกับชุดใหม่อีก 5 คนที่จะบินไปดักรอขึ้นตามเมืองท่าต่างๆที่เรือจะเข้าเทียบไปเรื่อยๆจนกว่าจะเดินทางรอบโลกสำเร็จ
เรือ Energy Observer จึงเป็นทั้งทูตทางสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งทูตของการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG (sustainable development goals) ที่แล่นไปให้ผู้คนในเมืองต่างๆทั่วโลกได้ประจักษ์ว่า เจตนา ความมุ่งมั่น และความจริงจังที่กล้าให้สัมผัสได้จริง อุปกรณ์อันซับซ้อนสามารถท้าลมพายุ ท้าแดดจัด และติดตั้งอยู่บนเรือที่ต้องแล่นบนพื้นที่ๆท้าทายที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นคือในมหาสมุทร ผ่านเขตมรสุมสุดหินจนแม้ เขตหนาวเย็นสุดขั้ว
ตลอดการเดินทางของเรือ มีการบันทึกข้อมูลผู้ขึ้นมาเยี่ยมเยือน บันทึกข้อมูลการใช้พลังงาน บันทึกนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศที่ไปจอดท่า ตลอดถึงมีการทดสอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล แถมอุตส่าห์มีจักรยานพับได้มาเองด้วยอีกสองคันเล็กๆ ไว้ให้ใช้ปั่นไปซื้อกับข้าวบนฝั่ง…หรือใช้ออกกำลังกายบนบก หลังจากลูกเรือใช้ชีวิตบนเรือในทะเลคราวละนานๆ
ในภารกิจแล่นรอบโลก เรือ Energy Observer มีทีมวิศวกรเต็มชุดคอยสนับสนุนจากทางไกล ผ่านศูนย์ปฏิบัติการที่ฝรั่งเศสตลอดเวลา บนเรือมีกล้องวงจรปิดหลายๆจุด มีคอมพิวเตอร์สองชุดที่ช่วยควบคุมทุกอุปกรณ์ ด้วยจำนวน1,500 เซนเซอร์ที่กระจายติดตั้งทั่วทั้งลำเรือและคอยตรวจสอบระบบตลอด 24 ชั่วโมง
ราวกับยานอวกาศทีเดียว…
คณะของเราได้ทราบเพิ่มมาอีกว่า เรือลำถัดไปของโครงการนี้ จะเป็นระดับเรือขนส่งสินค้า ซึ่งแปลว่าลำจะใหญ่กว่านี้มาก อุปกรณ์ทำไฮโดรเจนจากน้ำทะเลจะใหญ่ขึ้นอีก ถังเก็บจะทันสมัยขึ้นไปอีก
และอาจเปลี่ยนโฉมการขนส่งต่างๆ ทางน้ำ เปลี่ยนแปลงการผลิตพลังงานสะอาดต่างๆไปได้อย่างพลิกโลกทีเดียว
อนึ่ง เกร็ดเล็กน่าสนใจอื่นที่ผมสังเกตได้บนเรือยังมีอีก เช่น
หลังคาห้องโดยสารหลายส่วนได้อาศัยแสงสว่างของแดดที่ส่องผ่านแผงโซลาร์เซลล์ลงมาทำให้ประหยัดการเปิดไฟในช่วงวัน ห้องนอนของลูกเรือ มีเพดานที่ติดแท่งปริซึมสามเหลี่ยม 1 ชิ้นต่อห้อง เพื่อรับแสงดาดฟ้าลงมากระจายในห้องนอน และช่วยให้แสงหลอดไฟในห้องตอนกลางคืนทะลุไปปรากฏบนหลังคาเรือในยามฟ้ามืดอีกต่างหาก
นับว่าช่างออกแบบ…
ส่วนโพรงช่องว่างต่างๆทั้งหมดในเรือก็ถูกออกแบบให้สามารถใช้เก็บสารพัดอุปกรณ์ ทั้งตุนอาหารแห้ง อุปกรณ์ดำน้ำ เก็บจักรยาน เก็บเรือแคนูยาวเพื่อใช้ในการเข้าน้ำตื้น มีทางเดินใต้ดาดฟ้าเรือที่ขึงจากตาข่าย ทำให้มีลมอ่อนๆใต้เรือเวียนขึ้นมายังห้องโดยสารสม่ำเสมอ นับเป็นการเพิ่มประโยชน์และพื้นที่ใช้สอยได้เยอะทีเดียว
Miss Nicolet เปิดเผยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีไฮโดรเจนนี้ก้าวหน้าไปมากกว่าที่ติดตั้งในเรือนี้อีก ถังเก็บเท่าเดิมที่ออกแบบปรับปรุงใหม่ๆสามารถอัดก๊าซไฮโดรเจนเข้าไปได้แน่นกว่าเดิมอีก สามเท่า หรือแม้กระทั่งเป็นไฮโดรเจนเหลวซึ่งขนส่งง่ายมาก เหมือนขนน้ำมัน
แต่เธอก็ดีใจที่เรือลำนี้ได้นำเอาความสำเร็จของเทคโนโลยีพื้นฐานของไฮโดรเจนออกมาพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า พลังงานไฮโดรเจนนั้น ทำในสเกลที่สามารถใช้งานได้จริง สามารถเอาทั้งระบบมากระแทกกระทั้นในเรือที่ต้องฝ่าเกลียวคลื่น สู้กับไอเกลือกัดกร่อน อุณหภูมิที่ขึ้นลงและมีผลให้วัสดุข้อต่อต่างๆยืดหดได้อย่างเหลือเชื่อ
เธอว่าพลางชี้ให้ดูช่องโบ๋ตรงปีกหลังคาเรือ ที่ควรจะมีแผงโซลาร์เซลล์เหมือนช่องอื่นๆว่า แม้มีน้อตยึดแน่นหนา แต่ก็ยังเคยถูกคลื่นแรงๆกระแทกขึ้นจากด้านใต้ของลำเรือจนแผ่นโซลาร์เซลล์แตกหลุดหายไปยกแผงมาแล้ว
พวกเรายืนมองนิ่งด้วยความตระหนักต่อพลังธรรมชาติ
แสดงว่าเรือไฮเทคลำนี้ไปผ่านคลื่นลมกันมาพอควร
กัปตันบอกว่า เสียดายที่เรือไม่สามารถหาที่จอดเทียบที่ว่างให้สักสล้อตในกรุงเทพ เพราะที่จริงอยากเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสกับเรือนี้ได้เยอะๆ
และในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขั้นตอนอันไม่แน่นอนของแต่ละเมืองท่าต่อโควิด19 ก็ได้ทำให้เรือมีอันต้องล่าช้า และหลายครั้งจึงเข้าไม่ถึงสาธารณชนไปอย่างน่าเสียดาย
ผมจึงต้องอาศัยจำข้อมูลมาเรียบเรียงเขียนเผยแพร่ออกมาให้สังคมได้อ่านและอาจเกิดแรงบันดาลใจในการพยายามปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต
ชีวิตที่ต่างสามารถจะลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อันละเอียดอ่อนยิ่งของโลกเรา
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร