วช.จับมือมธ. นำนวัตกรรม พัฒนาผลผลิตทุเรียนไทย ของดีเมืองจันท์สู่สากล

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวหลังร่วมกับนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร  รองผวจ.จันทบุรี และ ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการเสวนาวิชาการเรื่อง “ความหวังทุเรียนไทย ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม” ณ โรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท อ.เมืองฯจ.จันทบุรี  ว่า  วช.  มีภารกิจหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสหสาขาวิชาการ โดยมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของ จังหวัดจันทบุรี และของประเทศ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยเราประสบปัญหาภาวการณ์แข่งขันที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ ดังนั้น แนวทางที่จะพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ จังหวัด เกษตรกร ภาคเอกชน ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างความมั่นคงของตลาดในประเทศและขยายตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดคุณภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ ในการบริหารจัดการสวนทุเรียน การจัดการผลผลิต การเพิ่มคุณภาพการส่งออก เพื่อเป็นตัวหนุนเสริมให้การทำการเกษตรมีคุณภาพสูง

รวมถึงการจัดการองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่อำนวยความสะดวกและให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ในการบริหารจัดการให้ได้คุณภาพก็เป็นช่องทางในการผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง การจัดประชุมเสวนาเชิงวิชาการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเน้นย้ำความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพของทุเรียนที่เป็นสินค้าเกษตรให้เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ต้องขอแสดงความชื่นชมในเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่มุ่งมั่นของความร่วมมือของทุกฝ่าย ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ วช. ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนผ่านความร่วมมือจากทีมนักวิจัย ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ความสำคัญต่องานวิจัย และนวัตกรรม พร้อมร่วมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาเกษตรกร โดยผสานความรู้ร่วมผนึกกำลังเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดจันทบุรี สู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และเป็นต้นแบบการทำงานวิจัยแบบบูรณาการให้กับนักวิจัย  เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ นายสุพจน์ กล่าวว่า จ.จันทบุรีมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ ภูเขา และเนินสูง ปัจจุบันสถานการณ์การเก็บเกี่ยวผลไม้ของจังหวัดกำลังทยอยออกสู่ตลาด โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. จะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาการรับซื้อผลไม้จากชาวสวนเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างต่อเนื่อง ทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรของไทยโดยสร้างรายได้มากเป็นอันดับที่ 2 ในสินค้ากลุ่มไม้ผลรองจากมะม่วง จ.จันทบุรีนับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก ความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer อย่างเข้มแข็ง การพัฒนาคุณภาพของทุเรียน ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนที่มีคุณภาพและมีลักษณะดีเด่นตรงตามความต้องการของตลาด และให้ผลผลิตสูงยกระดับผลผลิตทุเรียนพืชเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ด้าน รศ. ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดสรรทุนการวิจัยโครงการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อการส่งออก) จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชิงบูรณาการ รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี smart farmer เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่าน application ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ application ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง (premium grade) ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า (Phytophthora sp) ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียนผลสดแก่ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาคและผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ภายในงานมีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการวิจัยในรูปแบบเสวนา โดยนักวิจัยร่วมเสวนากับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ที่ได้นำนวัตกรรมไปทดลองใช้งาน รวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนา ณ สถานที่จัดงาน และ online ผ่านระบบ zoom meeting ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและการส่งออกสู่ระดับสากล

ขณะเดียวกัน นายวัชชิระ สิทธิสาร  เกษตรกรเจ้าของสวนพุทธรักษา  เปิดเผยว่า หลังนำนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง (premium grade) และระบบร่วมอื่นๆ จากโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer” โดยมีทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาประยุกต์ใช้  ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื้อทุเรียนละเอียดเป็นครีม แห้ง ไม่แฉะ มีสีสวยงาม เมล็ดเล็กลีบ รสชาติอร่อย หวานมัน ไม่มีรสขมแม้สุกงอม มีกลิ่นหอมไม่ฉุน ผ่านมาตรฐาน GAP จนเป็นที่ต้องการของตลาด  ทำให้เกิดความภูมิใจในอาชีพเกษตรกร เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาโดยเฉพาะสวนทุเรียน เพื่อให้คนไทยได้บริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ