โลกที่คนตาดี’’ยังมองไม่เห็น’’

ด้วยเหตุที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยแต่งตั้งผมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน การประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลก ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เพราะไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพจัดประชุม World Blind Union – Asia Pacific (Midterm Regional General Assembly) ในระหว่าง 27-29 พฤศจิกายนที่มาถึงนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต

โดยมีคนตาบอดเดินทางเข้ามาภูเก็ต จากประเทศสมาชิกซึ่งมีไทยด้วย นับร้อยคน!!

แค่จินตนาการผมก็นึกภาพไม่ออกแล้วครับ

ว่าน่าจะต้องใช้ทีมสนับสนุนเยอะขนาดไหน

ผมจึงเช็ควันเวลา ที่บรรดาคนตาบอดนานาชาติจะซื้อตั๋วเครื่องบินออกเดินทางมาถึงประเทศไทย  แล้วนัดหมายชักชวนคุณกฤษณะ ละไล เจ้าของรายการกฤษณะทัวร์ยกล้อ ให้ขนทีมงานถ่ายทำรายการแห่กันไปดักถ่ายทำรายการการมาถึงไทยของบรรดา วีไอพีนานาชาติแห่งโลกอันมืดมิด ที่จะมาเยือนไทยแลนด์ แดนเฟรนลี่ดีไซน์ของเรา เพราะโอกาสแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ

และนี่ไง Tourism for all ระดับโคตรท้าทาย !

การท่องเที่ยวเพื่อและของคนทั้งมวล ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติและ UN SDGs ที่เราต้องบริหารจัดการให้คนที่มีข้อจำกัดต่างๆสามารถเดินทาง ใช้ชีวิตได้ทัดเทียม เข้าถึง ปลอดภัย และได้มาตรฐาน

ส่วนในมุมการท่องเที่ยวจัดประชุมในไทย นี่ก็กลุ่มใช้จ่ายระดับสูงกว่านักเดินทางท่องเที่ยวปกติ เพราะพวกเขาคือนักเดินทางที่มีความรู้ มีทักษะทางอาชีพ มักมีผู้ติดตาม และต้องการใช้บริการการเดินทางและที่พัก มาตรฐานสูง

นักเดินทางประเภทนี้ใช้จ่ายต่อหัวต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวทัวร์ปกติถึง 3 เท่า

เราคำนวณกันแล้ว ในเมื่อวันพิธีเปิดการประชุมนี้จะเป็นเช้าวันจันทร์  ดังนั้น คนตาบอดที่จะมาร่วมประชุมก็น่าจะบินเข้าไปถึงสนามบินภูเก็ต ตั้งแต่วันอาทิตย์เพื่อจะได้มีเวลาเช็คอิน เข้าค้างแรมหนึ่งคืน ตื่นเช้ามาจะได้เข้าร่วมพิธีเปิดประชุม ซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณท้อป วราวุธ ศิลปอาชามาเป็นประธานกล่าวต้อนรับ และกล่าวเปิดการประชุมเป็นภาษาอังกฤษ

รัฐมนตรีท้อปนั้น สปีคอิงลิชและสปีชภาษาอังกฤษไม่ใช่งูๆปลาๆ แต่เป็นระดับปราศรัยได้ไหลลื่น ฟังแล้วคนไทยชื่นใจ ฝรั่งชื่นชม

ท่อนนั้นผมไม่ห่วงแน่นอน

ผมไม่ต้องไปร่วมพิธี ก็มีกรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ กรม พก. และทีมงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เขาไปดูแลบริการระหว่างงานพิธีและงานประชุม จัดโชว์ต้อนรับ จัดหาอาหารท้องถิ่นชาวบ้านจากภูเก็ต เมืองที่ยูเนสโกให้รางวัลเมืองที่มีความสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมืองแรกของไทยเขารอบริการจากอาหารชุมชนอยู่แล้ว

ไม่ต้องห่วง มีแต่จะน้ำลายสอ อยากไปขอชิมกับเค้าเท่านั้นแหละ สำหรับผมกับคุณกฤษณะอะนะ

แต่ท่อนที่ว่าด้วยการเดินทางไกล เปลี่ยนถ่ายจากเมืองตั้งต้นการเดินทาง มาเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนโหมดการเดินทางจากเรือบิน ไปสู่รถยนต์ เพื่อไปเข้าให้ถึงห้องที่พักโรงแรมนี่สิ ที่ผมเป็นกังวล

เพราะเขาน่าจะเปราะบางกว่ากลุ่มไหนๆในการเดินทางระหว่างประเทศ

แม้เขาพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เขามองอะไรๆก็ไม่เห็น อ่านป้าย อ่านเอกสารใดๆไม่เห็น มาพร้อมสัมภาระเพื่อมาค้างแรมในไทยหลายคืน มีของสำคัญ สิ่งมีค่าติดตัวมาใช้จ่าย ใช้สอย เพราะเขามาธุระ ไม่ใช่มาเที่ยวเฉยๆ อุปกรณ์ที่พกมาอย่างน้อยก็ต้องแทบเลต หรืออุปกรณ์พิเศษสำหรับใช้ทำผ่านระบบอักษรเบลล์แบบมีปุ่มนูนๆให้สัมผัส ของเหล่านี้เป็นเหมือนชีวิตจิตใจของพวกเขา ข้อมูลสำคัญสารพัดอยู่ในนั้น ถ้าเสียหายจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

ผมและคุณกฤษณะจึงเลือกบินลงจากดอนเมืองเช้าตรู่เพื่อไปดักรอรับคนตาบอดจำนวนมากที่กำลังเดินทางมุ่งภูเก็ต

ขาไปได้พบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อดีตอาจารย์กฏหมายจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อาจารย์สอนกฏหมายคนแรกของไทยที่ตาบอดสนิทสองข้าง แถมจบโทกฏหมายภาษีมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ ทันรุ่นกับศาสตราจารย์ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยที่จบปริญญาเอกที่นั่น

คู่นี้เคยเป็นคู่อ่านหนังสือกฏหมายภาษาอังกฤษภาษาละตินมาด้วยกันตั้งแต่สมัยไปเรียนที่ฮาร์วารด์ คนตาดีมีหน้าที่อ่านออกเสียงให้คนตาบอดฟังเป็นเล่มๆ คนตาบอดใช้การฟังและจำโดยแทบไม่จด แต่สามารถบอกคนตาดีได้ว่า ‘’สุรเกียรติ์…คุณช่วยหยิบเล่มที่วางบนหิ้งชั้นที่สองของตู้เหนือโต้ะเขียนหนังสือของผม เล่มที่แปด เปิดบทที่4  ยืนยันให้ผมฟังหน่อย ว่าคดีเรื่องนี้สู้กับคนนี้ ศาลฏีกาสหรัฐวินิจฉัยว่าที่ยกฟ้องนั้นเพราะอะไรนะ’’  ดร.สุรเกียรติ์เคยบอกผมตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นนิสิตว่าน่าทึ่งที่สุด อาจารย์วิริยะจำได้แม่นยำราวจับวางขนาดนั้น

ผมเลยจำชื่ออาจารย์วิริยะมาแม่นกว่า30ปี แม้จะเคยร่วมกิจกรรมปั่นไปไม่ทิ้งกัน ระดมทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดภาคเหนือมาในสมัยที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬามาแล้ว ได้เห็นความอุตสาหะของคนตาบอดที่สอนหนังสือระดับยากๆ ลงทุนปั่นจักรยานสองตอน ให้คนตาดีจับแฮนด์จักรยาน คนตาบอดซ้อนอยู่ท้ายแต่ช่วยปั่น

จากกรุงเทพไปขึ้นเหนือจนถึงที่ตั้งที่ดินที่จะสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่โน่น

วันปล่อยตัว พระองค์ภาฯ (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภาฯ ในปัจจุบัน )เสด็จไปทำพิธีปล่อยขบวนนักปั่นตาดีตาบอด ออกเดินทางไกล แบบ’’ปั่นไปไม่ทิ้งกัน’’ นับเป็นพระมหากรุณายิ่งต่อวงการคนตาบอดในคราวนั้น

ตกลงผมเลยได้เป็นผู้พาเดินนำให้อาจารย์วิริยะขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง นั่งข้างกัน ระหว่างเดินทาง จัดแจงเรื่องอาหารการกินให้อาจารย์ระหว่างบิน และพาเดินจากเครื่องบินเข้าถึงสายพานกระเป๋าเดินทางที่สนามบินภูเก็ตด้วยกัน

อาจารย์วิริยะไม่ได้บอดมาแต่กำเนิด แต่เสียการมองเห็นไปเมื่ออายุ15 ท่านอธิบายว่าคนตาบอดแต่กำเนิดที่ผ่านการฝึกฝนตนเองมาเข้มข้นจริงๆบางคนสามารถเดินโดยพึ่งไม้เท้าน้อยมากได้ เพราะใช้เสียงดีดนิ้วของตัวเองที่สะท้อนกลับมาที่ใบหูก็คำนวณได้เองว่าข้างหน้าและข้างๆมีสิ่งกีดขวางใหญ่ๆหรือไม่

แต่พวกฝาท่อระบายน้ำเปิดคาไว้ที่พื้นทางเท้าหรือแผ่นป้ายโฆษณาสินค้าที่ยื่นมากระแทกหน้าผากนั้น ยังไงก็โดนกันมาแล้วแทบทั้งนั้น

ในเที่ยวบินเดียวกันมีคนตาบอดอีกหลายคนมาด้วย แต่ล้วนเป็นคนไทย และส่วนมากมาพร้อมผู้ช่วย เช่นคุณเอกมล แพทยานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ คนตาบอดที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. มีอาจารย์หญิงที่ตาบอดจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น  ดังนั้น กลุ่มนี้ไม่มีอะไรต้องห่วง เค้าดูแลกันเองพอได้

เที่ยวบินอื่นๆที่มาลงที่ภูเก็ตในวันอาทิตย์มีคนตาบอดมาหลายชาติ นิวซีแลนด์ เมียนมาร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ลาว ญี่ปุ่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ออสเตรเลีย มากันทีมละหลายคน

การเดินทางกับสายการบินทั้งในและระหว่างประเทศของคนพิการนั้น สายการบินแต่ละสายมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ท่านที่สนใจรายละเอียดเรื่องนี้อาจศึกษาเพิ่มเติมเป็นตัวอย่างได้จากhttps://www.wonderfulpackage.com/article/v/1813/ เช่นบางสายการบินยอมให้มีคนตาบอดขึ้นเครื่องพร้อมกันได้ไม่เกินเที่ยวบินละ 4 คนบ้าง 5 คนบ้าง

ดังนั้นเพื่อมาตรฐานด้านความปลอดภัย กติกานี้จึงอาจสร้างข้อจำกัดบางอย่างที่เคยมีประเด็นถกเถียงเวลามีการจองตั๋วโดยไม่ได้แจ้งความพิการมาล่วงหน้าได้เหมือนกัน

คนตาบอดแต่ละกลุ่ม จึงต้องกระจายกันบินมาถึงที่ภูเก็ตก่อนวันอาทิตย์แล้วก็มี อย่างสว.มณเทียร บุญตัน ก็ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว

เล่ามาซะนาน ยังไม่เจอคนตาบอดต่างประเทศสักที แต่พื้นที่หมดแล้ว

รออ่านภาคสอง เป็นตอนเด็ดนะครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย