วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

ในการเข้าพื้นที่ติดตามปัญหาจากฝุ่นควัน คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภาได้ไปเยี่ยมพบกับทีมหน้างานไฟป่า ทั้งของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

และ”ทีมเหยี่ยวไฟ ” อันเป็นหน่วยพิเศษของกรมป่าไม้

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

คนละกรมนะครับ ใครที่ไม่คุ้นระบบราชการ มักจะนึกว่าคือกรมเดียวกัน

เพราะสมัยก่อนทั้งสองหน่วยนี้คือกรมเดียวกัน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แต่พอมีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ตั้งกระทรวงใหม่ๆขึ้นมาในปี2545 งานด้านอนุรักษ์ป่า ดูแลอุทยานแห่งชาติ คุ้มครองสัตว์ป่าก็ถูกโยกออกมา แยกจากกรมป่าไม้เพื่อตั้งเป็นกรมใหม่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

ทิ้งกรมป่าไม้ไว้ที่กระทรวงเกษตรต่อไป

ต่อมาจึงโอนกรมป่าไม้ตามไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

แต่ก็ยังไม่สามารถรวมสองกรมกลับสู่ร่างเดียว

กลายเป็นว่ากรมนึงดูป่าด้วยความมุ่งหมายเพื่อเน้นจะก้าวไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อีกกรมดูป่าด้วยความมุ่งหมายให้เน้นสงวนรักษาระบบนิเวศ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

กลับมาพูดเรื่องไฟป่า การเดินทางของคณะกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภาไปลำปางหนนี้ ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าคิด ซึ่งต้องพกกลับมาตั้งวงวิเคราะห์กันต่อ ก่อนจะผลิตเป็นรายงานเสนอต่อวุฒิสภาได้

เราได้ประจักษ์ว่า

ไฟที่เผากันอยู่ในภาคเหนือของไทยนั้น ส่วนมากจะเกิดในเขตของกรมป่าไม้ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้มากกว่าพื้นที่ของกรมอุทยานมาก

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

บางจังหวัด เป็นพื้นที่ป่าตั้งเกิน70% เช่นลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน ระนอง นี่แค่ยกตัวอย่าง

เฉพาะที่ลำปางจังหวัดเดียว มีป่าสงวนแห่งชาติ 33 ป่า!!

กินพื้นที่ 5ล้าน3แสนไร่ อันนี้คือเขตของกรมป่าไม้

ที่ลำปางมีอุทยานแห่งชาติ อีกต่างหาก 7 แห่ง คืออีก3 ล้านไร่

มีวนอุทยาน 1 แห่ง 3 แสนไร่

และมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง หมื่นแปดพันไร่ ก้อนหลังนี้คือเขตกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

แต่ลำปางมีพื้นที่เพาะปลูก 1.1ล้านไร่ คิดเป็นราวๆ ไม่ถึง15%ของพื้นที่จังหวัดลำปาง

ดังนั้น ไฟที่เกิดขึ้นจากการจุด จึงปรากฏบนแผนที่ในส่วนของป่าไม้เป็นหลัก ส่วนจะเป็นป่าของกรมป่าไม้ หรือป่าของกรมอุทยาน ก็ค่อยมาว่ากัน

เพื่อประโยชน์ของความเข้าใจ มักมีคนสงสัยว่า วนอุทยาน ต่างยังไงกับอุทยานแห่งชาติ

กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเคยอธิบายไว้ว่า

วนอุทยานคือ พื้นที่ที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม เช่นถ้ำ น้ำตก หาดทราย โดยทำการปรับปรุง ตกแต่งสถานที่ให้เหมาะสมในการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน เป็นสถานที่ซึ่งไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนนัก สะดวกแก่การเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจ

ส่วน อุทยานแห่งชาติ นั้น คือพื้นที่สงวนไว้เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม สงวนไว้เพื่อให้คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิม เพื่อรักษาสมบัติทางธรรมชาติให้อนุชนรุ่นหลังๆได้ชมและศึกษาค้นคว้า

วนอุทยาน ตั้งกันโดยประกาศกรม แต่อุทยานแห่งชาติต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

วนอุทยานจะประกาศได้ตั้งแต่ ขนาดพื้นที่500-5พันไร่

แต่อุทยานแห่งชาติจะประกาศต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 6,250ไร่หรือคือ 10ตารางกิโลเมตรขึ้นไป

เข้าวนอุทยานจะไม่มีการเสียค่าเข้าชม แถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติจะต้องเสียค่าเข้าพื้นที่ไปชม

เอาล่ะ ปูฐานให้พอควรแล้ว ทีนี้ก็กลับมาเรื่องไฟป่า

อย่างไรก็ตาม นับแต่พศ.2545 เป็นต้นมา การควบคุมไฟป่า ได้ถูกจัดเป็นภารกิจถ่ายโอนออกจากกรมป่าไม้ ไปสู่เทศบาลและอบต.

ให้กรมป่าไม้เหลือแต่ภารกิจสนับสนุนด้านวิชาการไฟป่าให้แก่การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะครับ!!

ส่วนนับแต่ พศ.2546 เป็นต้นมา

งานของกรมควบคุมมลพิษ ด้านงานตรวจสอบคุณภาพอากาศ ก็ให้ถ่ายโอนไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งงานตรวจสอบมลพิษทางอากาศ ทั้งในพื้นที่ที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และพื้นที่ที่ไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตั้งอยู่

รวมทั้งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านปัญหามลพิษทางอากาศ

ตลอดทั้งการดำเนินการตามกฏหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ด้านการควบคุมมลพิษ ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ”ซื้อ”บริการจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพในการดำเนินการตามกรอบและวิธีการที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด

โดยจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลของเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งเป็นผู้ดำเนินการมายัง ศูนย์รวบรวมข้อมูลระดับประเทศ ที่กรมควบคุมมลพิษ โดยกรมควบคุมมลพิษจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการตรวจวัด การเชื่อมโยงข้อมูล และระบบการตรวจสอบที่ถูกต้อง

ดังนั้น งบประมาณของกรมป่าไม้ในเรื่องไฟป่าจึงเหลือเพียงสำหรับทำงาน ”วิชาการไฟป่า และการถ่ายทอดความรู้”

นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภารกิจควบคุมไฟป่า มีข้อขลุกขลัก มานาน คนทำงานระบบจึงอาจรวมตัวกันไม่ค่อยติด

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กๆ อย่าว่าแต่ไม่มีงบจัดหาอุปกรณ์ทันสมัย หรือจัดหารถดับเพลิงรถขนน้ำเลย แม้แต่งบดำเนินการ”ดับ”ไฟป่าก็แทบจะไม่มี

เพราะถ้าอบต.นั้นไม่ค่อยมีรายได้ เป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ไฟป่านี่เกิดบ่อย ขยายตัวไว แถมอันตรายมากในการเข้าไปควบคุม

รวมทั้งภารกิจนี้ ไม่ได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจะเข้าไปทำอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ในป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าของกรมป่าไม้หรือป่าของกรมอุทยานนี่ครับ ถ้าว่าตามตัวบทกฏหมาย ยังไงก็ต้องขออนุญาตก่อนเสมอ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

ส่วนการปฏิบัติอยู่หน้างาน ทราบว่าก็เอื้อเฟื้อกันดีอยู่ เพราะอยากให้ไฟดับ

เงินท้องถิ่นของพื้นที่กลุ่มชายป่ามักไม่ค่อยมี เพราะนักท่องเที่ยวอยากเข้าป่ายังถูกกำหนดให้ต้องเข้าตามด่านตามสถานีที่ทำการของเจ้าหน้าที่รักษาป่าทั้งนั้น  ในขณะที่ความรู้เรื่องวิชาการไฟป่าก็มีความซับซ้อน ทักษะเข้าผจญไฟและความร้อนไม่ใช่เรื่องที่ฝึกได้ง่าย เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยก็มีราคาสูง พื้นที่อยู่ไกลจากระบบสนับสนุน จุดเกิดไฟมักเป็นจุดสูงชัน เข้าถึงยาก ขาดแหล่งน้ำใกล้เคียงให้ใช้ และการดับไฟต้องทำได้ทั้งกลางคืนกลางวัน แปลว่าระบบส่องสว่าง ระบบเสบียง ระบบการรักษาพยาบาลทั้งต่อระบบทางเดินหายใจ และการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บในป่าลึก การส่งกลับผู้บาดเจ็บ การจัดงบค่าตอบแทนผู้ควบคุมเพลิง ต้องมีเพียงพอ

แบบนี้คงไม่ต้องจินตนาการมากนัก ว่าแล้วที่ผ่านๆมาหลายๆสิบปี

กรมป่าไม้และองค์กรท้องถิ่นริมป่าทั่วประเทศ ใช้อะไร สู้และควบคุมไฟป่า

คำตอบคือ… ใช้ใจและประสบการณ์ป่ากันล้วนๆ…ขอรับ

มาภายหลังจึงมีสมาคม มูลนิธิ และภาคเอกชนที่เขาเห็นปัญหาแล้วจึงช่วยกันระดมเงินทุนเข้าช่วยเหลือ เพราะระบบงบประมาณราชการไม่ได้มีให้ตรงๆแล้ว

ต้องขอบคุณกลุ่มเอกชนที่อยากเห็น ”ป่าเปียก” ตามพระราชดำริ ร.9

ที่เข้าช่วยใส่งบ ใส่แรง และใส่ใจ ให้คนหน้างาน พอได้มีอุปกรณ์ดีๆไว้ทำงานเสี่ยงภัย  เช่น เครื่องเป่าลม ซึ่งจะทำงานได้ดีและเร็วกว่าการใช้คราดใช้ไม้กวาดกวาดใบไม้ที่พื้นป่าให้แหวกออก  เครื่องดูดลม ที่ช่วยดูดเก็บใบไม้ให้เข้าถุงเพื่อนำออกจากพื้นที่ที่ไฟจะลามมาหา

จะได้จัดซื้อโดรนขึ้นบินตรวจตรา ค้นหาจุดเกิดไฟ มีแสงส่องสว่างเพื่อให้ตำแหน่งแก่คนภาคพื้น มีลำโพงประกาศบอกกล่าวให้คนข้างล่างรู้เรื่อง

จะได้มีเงินไว้ซื้อแผ่นไวนิลหนาๆไปใส่ในเวียนไม้ไผ่ เพื่อทำเสวียนน้ำบนเขาที่แห้งแล้ง จะได้พอมีน้ำไว้เติมเวลาจำเป็น หรือจะได้มีเงินสั่งทำอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการอัดใบไม้ให้เป็นก้อน เพื่อขนออกไปทำประโยชน์

หรือมีเงินจัดหาวิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์บอกพิกัดจีพีเอสกับดาวเทียมเพื่อให้ติดตามหาเจ้าหน้าที่ที่ถูกไฟป่า ต้อนไล่พลัดกลุ่มออกไปได้แม่นยำ มีหน้ากากกันแก้สอันตราย มีถังอากาศใช้ในยามฉุกเฉิน มีเป้น้ำดื่มติดหลังสำหรับบุกลุยนานๆกลางไอเพลิงที่ร้อนระอุ มีเข็มขัดสนามที่สามารถร้อยเชือกที่ห่วงเพื่อการโรยตัวได้ทันควัน

สาธยายได้อีกแยะครับ…..

ควันไฟป่านั้น คนเมืองในอดีตไม่ค่อยรู้สึกเดือดร้อนเท่าไหร่ อย่างมากก็กวนตากวนใจที่รู้ว่าป่าวอดวายไปอย่างน่าเสียดาย

ต่อมาก็ชักหดหู่ใจจากภาพเกรียมดำเป็นตอตะโกของสัตว์ป่าที่ต้องมาตายอย่างน่าสังเวช

แล้วมาภายหลังไม่กี่ปีนี้ที่คนเมืองได้สัมผัสกับควันที่ลอยมาปกคลุมเมืองภูมิภาคกันตรงๆและนานๆ

แล้วต่อมาเมืองหลวงเมืองไหญ่ทั้งหลายก็หนีไม่พ้นจากสารพัดสะสมของควันจากสารพัดแหล่ง

และได้กลายมาเป็นปัญหาระดับชาติที่รับกันไว้โดยถ้วนหน้า

แถมมีสถิติที่ติดอันดับโลกเสียด้วย !!

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

ที่ผ่านๆมา กรมป่าไม้จึงสร้างหน่วยเล็กๆแบบหน่วยคอมมานโดที่สร้างคนฝึกคนที่มีทั้งที่เป็นข้าราชการ เป็นลูกจ้าง เป็นอัตราจ้าง เป็นจ้างรายปี ให้มารวมกำลังเป็นหน่วย ”เหยี่ยวไฟ”

ซึ่งรวมกันหลงจ้งทั้งประเทศมีอยู่แค่ ราว 200 คน!!

เงินน้อยก็ต้องสู้แบบเงินน้อยไงครับ

โดยปรับให้เป็นหน่วยเดินทางเร็ว และบุกเข้าลึก ไต่เขาขึ้นที่สูงต้องเป็น และแน่นอน ต้องใช้เชือกโรยตัวออกจากที่สูงได้เร็วและสามารถทำงานทั้งกลางวันกลางคืนได้ พักค้างแรมในป่าเพื่อทำงานสลับกันพักผ่อนได้

เพราะไฟป่านั้น เร็ว แรง เปลี่ยนทิศได้ปุปปัป

แถมฤดูระวังไฟป่าของไทยนั้นไม่ใช่สั้นๆนะครับ

ทันทีที่หมดฝนไปเพียงสองเดือน ป่าไทยจะแห้งติดไฟได้ง่าย

งานของเหยี่ยวไฟจึงเริ่มตั้งแต่ตุลาคมของปี ยาวตลอดช่วงแล้งไปจนถึงพฤษภาคมของทุกปี ก่อนที่หน้าฝนจะทำหน้าที่ตามธรรมชาติของฤดูกาล

งานของเหยี่ยวไฟจึงจะหมดภารกิจกระจายช่วยอยู่กับชุมชนในภาคเหนือ แล้วทุกคนจะมุ่งลงภาคใต้

เพราะฤดูไฟป่าในพรุ ที่พรุควนเคร็งและพรุอื่นๆในนครศรีธรรมราชและนราธิวาสจะเริ่มพอดี

ไฟในป่าพรุนั้นยิ่งอันตรายและควบคุมยาก เพราะไฟในพรุที่น้ำแห้งลงนั้นจะทำให้เกิดโพรงอากาศจำนวนมากใต้ดิน  และไม้สำคัญในป่าพรุมักเป็นไม้โกงกางซึ่งให้ค่าความร้อนสูง  จะทำให้ไฟที่ติดในพรุทั้งร้อนแรงและดับยาก   แถมตาเปล่าจะมองไม่เห็นเปลวไฟ เพราะไฟอยู่ในชั้นข้างใต้ระดับผิวพื้น รวมทั้งความร้อนและควันจะระอุพวยพุ่งออกมารบกวนตลอดเวลา

ถ้าถามผมว่าทำไมจึงรู้เรื่องนี้ลงรายละเอียดได้

ก็เพราะคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาเรา ตามไปเยี่ยมถึงฐานใหญ่ของการควบคุมปฏิบัติการ อันเป็นรังใหญ่ของหน่วย ”เหยี่ยวไฟ” ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง นี่แหละครับ คณะกรรมาธิการจึงได้รับฟังและซักไซ้ไต่ถามกันได้เต็มที่

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

นอกจากเหยี่ยวไฟของกรมป่าไม้แล้ว ถ้าเข้าไปในสนามจริงเวลาเผชิญไฟ เราจะเจอหน่วย ”เสือไฟ” ของกรมอุทยานฯและเจอชาวบ้านและฝ่ายราชการพลเรือน ทหารและท้องถิ่นในการร่วมเคียงกันและแบ่งบทสู้กับไฟป่า ตามระดับความยากของพื้นที่

บทความนี้จึงขอส่งท้ายให้ได้คิด

ว่าเราไม่อยากให้มีไฟป่าหรอก

แต่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้อย่างเข้าใจอย่างน้อยอีกสามอย่างคือ

คิดถึงการสนับสนุนคนหน้างานที่ต้องเสี่ยงชีวิต

คิดถึงการบัญชาการของพื้นที่ๆอุดมไปด้วยดราม่า และความซับซ้อนของสังคม

และ คิดถึงพลังชุมชนที่จะป้องกันตนเองและยังสามารถช่วยดับไฟในมือคนจุด

ปลดลดอุปสรรคของกฏหมายและระเบียบราชการให้ได้มากๆ

สร้างการร่วมมือ ที่เสมอหน้า เสมอใจ ได้แนวร่วมที่แท้จริง

และมองให้เห็นปัญหาของไฟป่า ”ที่คน มากกว่าที่ควัน….”

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ดับไฟป่า หน้าที่ใคร?

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ของวุฒิสภา

ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าว TPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN24 และASTV  อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์วัฏจักร