นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภากรรมาธิการ นำคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยังยืน ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เดินทางศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และได้เดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เพื่อรวบรวมข้อมูลไว้ประกอบการพิจารณา และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความสําคัญและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ
ในเบื้องต้น สิ่งที่คณะเดินทางเห็นควรสื่อสารเพิ่มเติมให้ไปถึงประชาชนได้ตระหนักเกี่ยวกับดอยอินทนนท์ก็คือ นอกจากดอยอินทนนท์แล้ว ทั้งประเทศไทยมีดอยสูงอีกไม่เกิน 6 แห่งที่มียอดสูงในระดับที่แตะถึง2,000เมตรจากระดับน้ำทะเล
ผลคือทำให้พื้นที่ป่าเขาส่วนที่เกิน2,000เมตรขึ้นไปนั้น จะเกิดสภาพที่เรียกว่า ‘’ป่าเมฆ’’ นับเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความพิเศษมาก เพราะนี่คือระดับความสูงที่เมฆลอยต่ำจะลอยมาชน ไม่ต้องรอหมอก รอฝนมาเติมความชื้นให้ป่า
ในทางกลับกัน การคายน้ำจากใบไม้ในป่าเขาชั้น ‘’ป่าเมฆ’’นี้ ก็จะสร้างเมฆให้ท้องฟ้าได้เพิ่มเติมอีกด้วย
ผลของความชื้นที่สูงมากนี้เองที่ทำให้ป่าไม้ในระดับความสูงนี้ในพื้นที่ร้อนชื้นเขตศูนย์สูตร เกิดมีต้นไม้ที่แตกต่างจากป่าดิบชื้นทั่วไป ต่างจากป่าเบญจพรรณทั้งหลาย เพราะพืชได้วิวัฒนาการตัวเองให้เป็นไม้เนื้ออ่อน รากแก้วสั้นแต่รากแขนงจะแผ่ออกกว้างเพื่อให้สู้ลมแรงบนระดับความสูงนี้ได้
และถ้าผ่าลำต้นออกจะไม่พบวงปีของแก่นไม้ เนื่องจากตลอดอายุของต้นไม้จะไม่เคยเจอฤดูแล้งเลย (วงปีที่เราเห็นคือวงการขยายตัวของลำต้นที่ต่างไประหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน) ส่วนพืชกลุ่มเฟริน์ มอสและไลเคนจะปรากฏอย่างหนาแน่นทั้งที่ลำต้นกิ่งก้านง่ามไม้ ทำให้มองแล้วคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ไปโดยปริยาย
ความชื้นที่สูงยิ่งนี้นอกจากจะทำให้ใบไม้ของพืชหลายอย่างสร้างทรงให้เรียวและมีฟิลม์หรือขนอ่อนบางๆคลุมตัวเองเพื่อให้ความชื้นที่มาเกาะใบลื่นไหลออกไปไม่เกาะติดนาน เพราะถ้ามีจำนวนมากไปจะสร้างน้ำหนักให้เสียหายแก่โครงสร้างของก้านใบ น้ำที่ไหลหยดลงพื้นในป่าชั้นนี้มีมากจนเหมาะแก่การเกิดของพืชคลุมดินที่แปลกตา เช่นข้าวตอกฤาษี
น้ำที่ขังตัวรวมกันก่อนไหลล้นจนเกิดลำธารต้นน้ำลงจากภูเขานั้นมีมากจนกลายเป็นป่าพรุ
ป่าพรุที่ยอดดอยอินททนนท์เป็นป่าพรุที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดของประเทศไทย
หน้าดินที่มีในป่านี้มีน้อย เพราะความลาดชันสูง มีน้ำธรรมชาติพาให้เคลื่อนตัวลงจากเขามาตั้งแต่โบราณกาล ดินที่เรามองเห็นตามแนวพื้นที่อย่างกิ่วแม่ปาน จึงบางจนรากพืชใช้ยึดเกาะไม่ได้แน่นพอ ความหนาที่เพิ่มขึ้นของดินมาจากเศษใบไม้กิ่งไม้ที่ร่วงลงมาเท่านั้นและย่อยสลายช้า เนื่องจากที่ความสูงนี้ไม่มีปลวก (รวมทั้งไม่มียุง) การย่อยสลายจึงต้องอาศัยเชื้อราและสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอื่นค่อยๆช่วยย่อยสลายให้
ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ในพื้นที่พิเศษเช่นนี้จึงซ่อนกลไกที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้สังเกตค้นคว้าได้อีกมาก
การออกแบบเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่นี่ออกแบบไว้ให้เป็นขั้นเป็นแผ่นของวัสดุเทียมไม้ที่จะลดการเหยีนบย่ำลงบนพื้นป่าหรือรากไม้ให้ได้มากกว่าที่อื่นๆ
ด้วยความสูงของยอดดอยอินทนนท์มีถึง 2,565เมตร สูงสุดของแดนสยาม จึงทำให้ป่าเมฆของดอยอินทนนท์มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปด้วย
เราจึงควรถนอมรักษาพื้นที่พิเศษเช่นนี้ให้ได้มาก และเข้าใจได้ว่าที่นี่ไม่ได้มีความโดดเด่นเฉพาะที่อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีกุหลาบพันปีให้เห็น แต่ที่จริงแล้วที่นี่มีสิ่งมีค่ายิ่งที่มองด้วยสายตาอาจไม่เห็นได้ทันทีจนกว่าจะได้รับคำอธิบายที่เพียงพอ
และจะเป็นประโยชน์ยิ่งที่ชุดความรู้เหล่านี้จะได้รับการสรุป เผยแพร่บอกต่อให้ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อจะได้หวงแหนรักษาและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง ในระหว่างกิจกรรมที่นี่ คณะเดินทางของวุฒิสภาได้ร่วมกันรับฟังข้อร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะจากผู้แทนชุมชนคนเลี้ยงช้างที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงของดอยอินทนนท์มาร่วมกันนำเสนอ เพื่อให้เกิดการจัดการ การส่งเสริมและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมต่อไปด้วย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร