กสม.ผิดหวัง ครม.เลื่อนใช้ กม.อุ้มหายออกไป 7 เดือน หวั่นกระทบความเชื่อมั่นประเทศ

กสม. ผิดหวัง ครม. มีมติเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายออกไปกว่า 7 เดือน หวั่นกระทบสิทธิประชาชนและความน่าเชื่อถือของประเทศ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้ขยายกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ของมาตรา 22 – 25 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญ ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผิดหวัง และเป็นห่วงว่าประชาชนยังอาจถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยกระบวนการจับกุมและสอบสวนที่ขัดต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงถึงผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักดันให้มีกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ไทยได้แสดงเจตนารมณ์เข้าเป็นภาคีไว้ตั้งแต่ปี 2555

สำหรับประเด็นที่มีข้อถกเถียงว่าการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวเพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่ นั้น เพื่อให้สิ้นความสงสัยและเป็นบรรทัดฐานในโอกาสต่อ ๆ ไป กสม. เห็นควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยด้วย

 “กสม. ได้รับทราบปัญหาและข้อจำกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องความพร้อมด้านอุปกรณ์การบันทึกภาพและเสียง ความพร้อมของบุคลากรในการปฏิบัติตามกฎหมาย และความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อย่างไรก็ดี กสม. และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีทางออกและข้อยกเว้นอยู่แล้ว และเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน” นายวสันต์ กล่าว และว่า ระหว่างที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราที่สำคัญออกไป ขอให้รัฐบาลเร่งเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาข้อจำกัด ในทุกด้าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีการขอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก

นอกจากนี้ กสม. เตรียมเสนอ ครม. สั่งการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหากรณีกรมธนารักษ์กำหนดให้ที่ดินแปลง “สนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎร จ.จันทบุรี เป็นที่ราชพัสดุ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเมื่อต้นปี 2564 กรณีราษฎรในพื้นที่ตำบลท่าช้าง และตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมธนารักษ์ และธนารักษ์พื้นที่จันทบุรี

คัดค้านการออกโฉนดที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า และประกาศให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่กว่า 4,000 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุทั้งที่ราษฎรได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหลายชั่วอายุคน ทำให้ราษฎรกว่า 1,200 คน ได้รับความเดือดร้อน และยังถูกเร่งรัดให้เข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุ โดย กสม. ได้ตรวจสอบและปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินแปลงหวงห้ามนี้ เคยมีบุคคลครอบครองทำประโยชน์มาก่อนตามที่ราษฎรกล่าวอ้าง ปัจจุบันราษฎรบางรายมีแบบการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) มีโฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง และเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ซึ่งจากการตรวจสอบและประชุมรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทร่วมกับทุกฝ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้ข้อยุติร่วมกันว่า ธนารักษ์พื้นที่จังหวัจันทบุรีได้ชะลอการทำสัญญาเช่าไว้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แล้ว จึงมีมติให้ยุติเรื่อง โดยในการตรวจสอบครั้งนั้น กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อกรมธนารักษ์ ธนารักษ์พื้นที่จันทบุรี และจังหวัดจันทบุรี ให้จัดสรรงบประมาณ และอัตรากำลัง เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนที่ทางกายภาพที่ดินแปลง “สนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า” เป็นกรณีเร่งด่วน

พร้อมสอบสวนการได้มาของที่ดินแต่ละแปลงโดยให้ราษฎรผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน และหามาตรการแก้ไขปัญหาให้ราษฎรแต่ละกลุ่มที่ครอบครองที่ดินทั้งที่มีและไม่มีเอกสารหลักฐานอย่างเหมาะสม โดยในระหว่างการจัดทำแผนที่ทางกายภาพและการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินรายแปลงยังไม่แล้วเสร็จ ให้ชะลอการทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุไว้ก่อน

ทั้งนี้ให้จังหวัดจันทบุรีกำกับดูแลการทำแผนที่กายภาพให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยกสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ได้พิจารณาผลดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยได้รับทราบว่า กรมธนารักษ์ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดทำแผนที่ทางกายภาพที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จันทบุรีได้สำรวจรังวัดจัดทำแผนที่ทางกายภาพเป็นกรณีเร่งด่วนตามที่ กสม. ขอให้ดำเนินการ และได้ชะลอการทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุไว้ก่อนจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้จังหวัดจันทบุรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนที่ทางกายภาพในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นการเฉพาะแล้วอย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า ปัจจุบันระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร แต่การดำเนินการของกรมธนารักษ์ และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จันทบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทตามข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะของ กสม. ยังไม่เป็นที่ยุติ ที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เป้าหมายการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินของประชาชน (One Map) และมีราษฎรที่จะได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความสำคัญกับกรณีพิพาทดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งรัดการดำเนินการของส่วนราชการ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วต่อไป

กสม. นับถอยหลังติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในประเทศไทย ปี 2567

นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ชุดปัจจุบัน ได้พิจารณาและกำหนดให้ประเด็น “สถานะบุคคล” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อนและสร้างผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของ กสม.

จากการติดตามการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลไทยใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อขจัดหรือลดการไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างเป็นระบบ โดยมีพัฒนาการเชิงบวกทั้งการรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตรแบบถ้วนทั่ว (universal birth registration) การพิจารณากำหนดสถานะบุคคลและให้สัญชาติกับบุตรของบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองและมีความผสมกลมกลืนกับสังคมไทยในลักษณะต่าง ๆ และการอนุญาตให้สิทธิในการอยู่อาศัยและการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการศึกษาและสุขภาพ โดยในปี 2557 รัฐบาลไทยได้ประกาศเป็นหุ้นส่วนที่ดีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยได้รับการหยิบยกเป็นตัวอย่างของภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดปัญหาบุคคลไร้รัฐในประเทศ พร้อมกับเข้าเป็นประเทศร่วมก่อตั้งและเป็นผู้นำในกลุ่ม Group of Friends (GoF)ของโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 (#IBelong Campaign) ของ UNHCR ซึ่งมีเป้าหมายขจัดปัญหาการไร้รัฐให้หมดไปภายใน 10 ปี คือ ในปี 2567 (ค.ศ. 2024) ด้วย

ในการประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 กสม. และภาคีเครือข่ายด้านสถานะบุคคล ได้ร่วมกันติดตามและประเมินสถานการณ์สถานะบุคคล และพบข้อจำกัดหลักใน 2 ส่วน ได้แก่

(1) ปัญหาต้นน้ำ จากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอพิสูจน์หรือแก้ไขสถานะบุคคล รวมถึงทัศนคติและความเข้าใจที่ผิดพลาดทั้งของประชาชนผู้ทรงสิทธิที่ยื่นคำขอพิสูจน์สถานะบุคคลและหน่วยปฏิบัติงานโดยตรง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้บางครั้ง มีการใช้ดุลพินิจ หรือสร้างภาระการพิสูจน์สถานะบุคคลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

 (2) ปัญหาความล่าช้าของการตรวจพิสูจน์และการกำหนดสถานะบุคคล ทั้งจากขั้นตอน
การปฏิบัติงานที่ไม่คล่องตัว จำนวนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ รวมถึงการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่ทำให้ระบบการทำงานสะดุดและขาดการฝึกฝนความเชี่ยวชาญต่อเนื่อง

จากการประชุมดังกล่าว กสม. ภาคีเครือข่ายด้านสถานะบุคคล ได้มีมติขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในปี 2567 ผ่านการประสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เช่น การประสานความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาสถานะให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ การเสริมสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มชายขอบ (อาทิ กลุ่มเด็กนักเรียนกลุ่ม G กลุ่มบุตรหลานติดตามแรงงาน กลุ่มภิกษุและสามเณรและกลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ) เพื่อให้เข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การเดินทาง และสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งมีแผนการสร้างเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย เช่น การเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคล การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลและสัญชาติ รวมถึงขั้นตอนการยื่นคำขอพิสูจน์สถานะบุคคล การนำเสนอการปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการงานทะเบียนและงานสถานะบุคคลที่กรมการปกครองรับผิดชอบ และการนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสถานะบุคคลมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านสถานะบุคคล

ภายหลังจากการออกมติดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กสม. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานขับเคลื่อนมติในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ (1) การตรวจสอบกรณีร้องเรียนและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของกลุ่มประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติ (2) การจัดทำคลินิกงานสถานะบุคคลในลักษณะกิจกรรมเคลื่อนที่และเข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนใต้ (3) การศึกษาวิจัยปัญหาและประชากรกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาเฉพาะ อาทิ กรณีคนไทยพลัดถิ่น และกรณีพระสงฆ์และสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ (4) การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายของประชากร กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงสิทธิในสถานะบุคคล และ
(5) การประชุมหารือเชิงนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ

“ในโอกาสที่ปี 2567 เป็นปีเป้าหมายขจัดปัญหาการไร้รัฐให้หมดไปภายใน 10 ปี ตามโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 หรือ #IBelong แคมเปญ กสม. จะได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรง
ในการขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวของประเทศไทย ซึ่งในการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนกรกฎาคม 2566 จะมีการติดตามสถานการณ์ และนำเสนอตัวเลขของการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติในภาพรวมของประเทศไทย นำเสนอต่อสาธารณะชนต่อไป” นายชนินทร์ กล่าว