แพทยศาสตร์ มช. เปิดศูนย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร

คณะแพทยศาสตร์ มช.เปิดศูนย์วิจัยทางคลินิก
เพื่อทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร หรือ CR-FAH (ซีอาร์-ฟา)

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดศูนย์วิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร หรือ CR-FAH (ซีอาร์-ฟา) ตอบโจทย์แผนกลยุทธ์ MED CMU บนพื้นฐานการศึกษา การวิจัย การบริการ และนวัตกรรมทางการแพทย์ มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้โดดเด่น เพื่อชี้นำการพัฒนาด้านสุขภาพของมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้กับประชาชน และสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร (Clinical Research Center for Food and Herbal Product Trials and Development) หรือ CR-FAH เป็นหน่วยงานในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one-stop service) โดยบูรณาการงานทดสอบและวิจัยด้านอาหารและสมุนไพรในมนุษย์ (การทดสอบทางคลินิก) และในสัตว์ทดลอง/เซลล์ (การทดสอบระดับพรีคลินิก) เข้ากับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา และงานขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ด้านอาหารและสมุนไพร โดยดำเนินงานตามมาตรฐานสากล ถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัย และมุ่งสู่การเป็นหน่วยงานวิจัยทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรชั้นนําของประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร หัวหน้าศูนย์ CR-FAH กล่าวว่า “การดำเนินงานของ CR-FAH แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดังนี้ 1. กลุ่มงานขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และพัฒนาโครงการวิจัย ให้บริการออกแบบกระบวนการทดสอบและวิจัยด้านผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยให้ตรงตามเป้าประสงค์ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ และรองรับการเตรียมข้อมูลเพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยวางแผนและให้คําปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การยื่นจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร 2. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้บริการด้านวิจัยทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรตามมาตรฐาน วิธีการ ระเบียบ และกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ เช่น ข้อมูลคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ 3. กลุ่มงานวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ในมนุษย์ ให้บริการวิจัยและทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรในมนุษย์ โดยมีแนวทางการทดสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลและหลักฐานแสดงประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เพื่อการขอขึ้นทะเบียน โดยยึดหลักปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมวิจัยในมนุษย์

ศูนย์ CR-FAH มีการดำเนินงานวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ได้แนวทางและวิธีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีระยะเวลาสั้นที่สุด และมีการลงทุนที่สมเหตุสมผลในการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งในระยะพรีคลินิกและระยะคลินิก เพื่อให้ได้ข้อมูลตามเกณฑ์ของหน่วยงานรับจดแจ้งการขอขึ้นทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งเรียบร้อยแล้ว แต่ประสงค์จะดำเนินการทดสอบผลิตภัณฑ์ในมนุษย์ ในกรณีนี้หากศูนย์ CR-FAH เห็นว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีข้อมูลและหลักฐานครบถ้วนที่จะสามารถทดสอบในมนุษย์ได้ ก็จะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการวิจัยและทดสอบในมนุษย์ต่อไป ภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจใช้บริการของศูนย์ CR-FAH สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://w2.med.cmu.ac.th/cr-fah/en/ อีเมล์ crfah-med@cmu.ac.th หรือ Facebook: CRFAHCMU หรือ โทร. 053-935353 ต่อ 314”

หัวหน้าศูนย์ CR-FAH กล่าวเพิ่มเติมว่า“หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจของศูนย์ CR-FAH คือ การนำผลงานวิจัยมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ ครีมบำรุงผิวหน้าสูตร “ไอโซฟลาโวนอัลตราซูติคอลส์” (ISOFLAVONE ULTRACEUTICALS) ที่ออกแบบมาเพื่อบำรุงผิวหน้าสตรีวัยทองโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยสารสกัดไอโซฟลาโวน ซึ่งเป็นไฟโตรเอสโตรเจน (phytoestrogen) จากถั่วเหลือง ใช้ทาเพื่อทดแทนการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) แก่ผิวหน้าสตรีวัยทอง แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเอสโตรเจน นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยวิตามินและสารบำรุงผิวอื่นๆ ผลิตภัณฑ์นี้ผ่านการวิจัยที่ได้มาตรฐานในสตรีวัยทอง โดยนักวิจัยหลักจากศูนย์ CR-FAH ภายใต้ทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติ (Journal of Clinical Medicine 2023,12,1326.) ซึ่งแสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้ริ้วรอยแลดูตื้นขึ้น รูขุมขนแลดูกระชับ และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหน้าสตรีวัยทองอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และปัจจุบันวางจำหน่ายในวงการสกินแคร์โดยใช้ชื่อการค้าว่า ครีม “FROL (โฟรล์)”ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ FACEBOOK: “FROL – โฟรล์” https://www.facebook.com/profile.php?id=100088358033812&mibextid=LQQJ4d