พบแล้วต้นตอ ปัญหาฝุ่นพิษ โดย “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์”

พบแล้วต้นตอ ปัญหาฝุ่นพิษ อยู่ตรงนี้เอง

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวในรายการ The Leader Insight ทางสถานีวิทยุ ร.ด. F.M.๙๖.๐ วันพฤหัสบดี ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ดำเนินรายการโดย จิระ ห้องสำเริง ว่า

1.ข้อมูลมี แต่กำกวม!! ต่างหน่วยต่างมีวิธีเก็บข้อมูล ไม่มีระบบข้อมูลกลางทางวิทยาศาสตร์

บางหน่วยเก็บจำแนกรายอำเภอ อีกหน่วยเก็บรายพื้นที่ป่าบางหน่วยเก็บจากดาวเทียม อีกหน่วยเก็บจากการสำรวจภาคพื้นดิน

ข้อมูลมีเพียงบางกลุ่มจังหวัด ไม่มีระดับประเทศทั้งที่การเผามีทุกภาค มากน้อยและช่วงเวลาเผาต่างกันไป ภาคเหนือมีเก็บข้อมูลแบบ17จังหวัดบ้าง 9 จังหวัดบ้าง

  1. ยังไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลกันจริงจัง

หน่วยงานมีเพียงการสะสมตัวเลขของจุดความร้อน มีแบบรายวัน รายเดือน รายปี เน้นงานเชิงปริมาณ แต่ไม่มีการวิเคราะห์เชิงลึกว่าจุดร้อนเหล่านี้ ในแต่ละที่ แต่ละช่วงเวลา มีพฤติกรรมของแต่ละจุดแต่ละช่วงอย่างไร ไม่มีข้อมูลว่าผลจากจุดความร้อน ทำให้มีปริมาณพื้นที่เผาไหม้ไปรวมแล้วเท่าใด

คณะทำงานพบพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากในรอบย้อนหลัง 10 ปี 2553-2562 มีพื้นที่เผาไหม้ซ้ำๆรวม 9.7 ล้านไร่!

โดยเป็นที่ป่า ถึง 65%
ที่นาข้าว 22%
ไร่ข้าวโพด 6%
เกษตรกรรมอื่นๆ 3%
ไร่อ้อย 2%

และข้อมูลของ10ปีที่ว่าก็สอดคล้องกับสัดส่วนของการประมวลผลของปี 2563และ2564 แปลว่าพฤติกรรมการเผาในที่ดินปลูกและที่ดินป่ามีค่าเฉลี่ยคล้ายๆกันตลอด 12 ปี!!

  1. มีdata แต่ไม่เป็น big data

การสะสมข้อมูลของหน่วยต่างๆ ไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นอนุกรมเวลา และการลงGPS หรือพิกัดบนแผนที่ จึงไม่มีข้อมูลบันทึกพฤติกรรมการเคลื่อนตัวของแนวไฟแต่ละกองในเวลาต่างๆไว้ ทำให้ขาดข้อมูลสำคัญในการวางแผนหรือทำความเข้าใจทั้งเหตุและผลของการเผา การเข้าแก้ปัญหา และจึงทำให้ไม่เกิดแผนเชิงรุกเพื่อป้องกันเหตุในการจุดไฟและไม่เกิดแผนชิงระงับเพลิงก่อนที่เพลิงจะลามขยายวงกว้างออกไป

นำมาสู่ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานที่มีดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานคณะทำงาน ร่วมกับดร.บัณทูร เศรษฐศิโรตม์ และคณะนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆที่จับตาดูข้อมูลย้อนหลังของภาพข้อมูลจากดาวเทียมผ่านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ GISDA ว่า

ก.ไฟป่าที่ซ้ำซากที่สุด 4 อันดับแรกของไทย อยู่ที่

  1. ป่าแม่ปิง-อมก๋อย-แม่ตื่น จำนวน 581,872ไร่
  2. ป่าสาละวิน-แม่สะเรียง จำนวน 558,486ไร่
  3. ลุ่มน้ำปาย -น้ำตกแม่สุรินทร์ จำนวน 311,883ไร่
  4. ป่าหลังเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 166,689ไร่

โดยคณะทำงานสามารถตรวจสอบพบจุดกำเนิดและการเคลื่อนตัวของแนวไฟซึ่งช่วยให้มีข้อสังเกตต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต่างกันไปตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ชุมชน

ข.ไฟในไร่เกษตรกรรม

คณะทำงานพบว่า อ้อยมีการเผาน้อยกว่าที่เคยเข้าใจกันไปมาก ที่เผามากๆคือฟางข้าวก่อนการเตรียมแปลงปลูก โดยพื้นที่เผาตอซังข้าวมากที่สุดคือ นครสวรรค์ พิจิตร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และ พิษณุโลก โดยข้าว มีพื้นที่เผาซ้ำซากมากกว่าอ้อยถึง 12 เท่า มีน้ำหนักเชื้อเพลิงมากกว่าอ้อยถึง5เท่า และปล่อยความเข้มข้นของเขม่าซึ่งเป็น PM10 สูงกว่าอ้อยในการเผาที่เท่าๆกัน

ค. การเผาในประเทศเพื่อนบ้าน

นับแต่2562เป็นต้นมา ลาวเหนือติดน่าน พะเยา และเลย มีการเผาไร่ข้าวโพดเพิ่มอย่างก้าวกระโดด
ในเมียนมา ตลอดชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน มีทั้งเผาป่าและเผาทุ่งมากไล่เรี่ยกัน ยกเว้นจุดตรงข้ามอำเภอ พบพระ จังหวัดตาก จะเป็นการเผาในไร่ข้าวโพดเป็นหลัก ซึ่งควรติดตามว่าข้าวโพดเหล่านี้ ขายเข้ามาในฝั่งไทยหรือไม่เพียงใด

ข้อเสนอแนะ

1.ควรให้ GISTDA รับผิดชอบทำชุดข้อมูลกลางให้เป็นสาธารณะให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆเข้าถึงง่ายๆ แบบเกือบreal time ทั้งจุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ และให้สามารถทาบกับแผนที่อุตุนิยมวิทยาที่แสดงทิศทางลม ความกดอากาศ และฝน โดยแสดงผลย้อนหลังครบถ้วนทุกข้อมูลและแสดงตำแหน่งในแผนที่ที่สามารถให้ความชัดเจนระดับแปลง ตำบล อุทยาน ป่า

2.ชวนเชิญให้ทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงตั้ง มิสเตอร์ฝุ่น เพื่อสื่อสาร ตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันจากผลที่มีจุดความร้อนเกิดบนข้อมูลดาวเทียมร่วมกันตลอดเวลา

3.กพร.กำหนด Joint KPI ให้หลายๆหน่วยร่วมกันทำงานแก้ไขไฟป่า ไฟทุ่ง ร่วมกัน

  1. สนับสนุนการมีสถาบันไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อให้บริการข้อมูล ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กำหนดมาตรฐาน และประสานการบูรณาการเกี่ยวกับไฟป่าและการเผาในที่โล่งแบบเป็นองค์รวม
  2. พัฒนากลไกเครดิตแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสร้างอาชีพใหม่ให้ชาวบ้าน ที่เคยหาประโยชน์ผ่านการจุดไฟไม่ว่าในป่าหรือในไร่

6.ส่งเสริมปลูกป่าวนเกษตร ปีนี้ มีการพบการเลี้ยงวัวแบบปล่อยของชาวบ้านตามชุมชนตะเข็บชายแดนตะวันตกที่เป็นป่าจำนวนมากผิดปกติ

บางชุมชนห่างไกล ในป่า ถนนแทบไม่มี มีเพียงลำธาร มีประชากรสองพันคนแต่มีวัวในพื้นที่หลายพันตัว!

ลักษณะเป็นการเลี้ยงแบบปล่อย ไม่มีรั้ว

และพบว่ามีการจุดไฟเผาป่าเพื่อให้เกิดทุ่งโล่งแล้วกลายเป็นทุ่งหญ้าตามมา เพื่อให้วัวมีหญ้ากิน

ส่วนวัว มีแนวโน้มว่าน่าจะฝากเลี้ยงข้ามแดนแล้วป้อนตลาดชำแหละแบบนอกระบบ