กสม.ยินดี ศาล รธน.ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหายฯ เหตุไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ

กสม. ยินดีศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย เหตุไม่สอดคล้องตามมาตรา 172 รัฐธรรมนูญ ยันที่ผ่านมา กสม.ประสานหลายหน่วยงาน พร้อมบังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบให้ตราขึ้นเพื่อขยายการบังคับใช้ มาตรา 22-25 ของกฎหมายดังกล่าวออกไป ด้วยเหตุความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นอันตกไป และไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น

กสม. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ตามกำหนดการเดิม และตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นที่น่ายินดีที่ ครม. ขานรับและมีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่านเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์

สำหรับการดำเนินงานของ กสม. ในช่วงที่ผ่านมา กสม. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม เตรียมความพร้อมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมีการประชุมทำความเข้าใจกับหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งได้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดริเริ่มโครงการอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

เนื่องจากอยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์พิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าวและพร้อมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังเหตุการณ์ทรมานและอุ้มหาย และร่วมทำหน้าที่แจ้งเหตุให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ทราบ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานสำคัญตามกลไกของกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ สำนักงาน กสม. ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐานและระบบการป้องกัน คุ้มครองและเยียวยาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีเครื่องมือที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ