นายกรัฐมนตรีหวังยกระดับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ชูอัตลักษณ์ประเพณีล้านนา สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 เวลา 20.30 น. ณ บริเวณเวทีกลางริมแม่น้ำปิง หน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นาวสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมงานประเพณีลอยกระทง และชมการประกวดขบวนกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว งานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ค่ำคืนแห่งสายนที วิถีแห่งวัฒนธรรม” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ บำรุงรักษา ศิลปวัฒนธรรม จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดมาอย่างอย่างนาน โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอัศนีย์ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย ผู้บริหารจากบริษัท Tesla ผู้แทนจากองค์กร หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาร่วมงานประเพณีลอยกระทง และการประกวดขบวนกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นงานประเพณีเดือนยี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้วว่าเป็นประเพณีที่ควรจะต้องมา ซึ่งเป็นต้นทุนใหญ่ของ soft power ของประเทศไทย เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวอวยพรขอให้ทุกคนที่มาร่วมพิธีลอยกระทงมีแต่ความสุข ความปลอดภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขอให้ลอยความทุกข์ ความโศกและถ้าหากใครมีโรคภัยก็ขอให้ลอยไปกับกระทงนี้ ขอให้ปีต่อ ๆ ไปเป็นปีที่ดีขึ้น ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาเที่ยวมากมาย ขอให้ทุกคนต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างดี สร้างความประทับใจ สร้างรอยยิ้มให้แก่นักท่องเที่ยว และอยากกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง จากนั้น นายกฯ และคณะร่วมลอยกระทง ณ ริมน้ำปิง ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับเข้าที่พัก นายกรัฐมนตรีได้ทักทายประชาชนที่มาร่วมงานอย่างเป็นกันเอง

ขณะที่ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย นอกจากนี้ ให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบทุกมิติ

สำหรับ 5 มาตรการ ประกอบด้วย :

1. มาตรการภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย

2. ปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาที่สามารถจูงใจในการบริโภค

3. การพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า

รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยให้ ก.คลัง ดำเนินการศึกษา

 4. ผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น โดยให้ มท. ดำเนินการศึกษา 

5.  การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้  กต. ดำเนินการศึกษา