“เครื่องพลาสมาอากาศ”บำบัดแผลติดเชื้อ

รองรับสังคมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยแผลเรื้อรัง กปว.สำนักงานปลัด อว.- อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) พัฒนา“เครื่องพลาสมาอากาศ” บำบัดแผลติดเชื้อ ทำลายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ทำร้ายเนื้อเยื่อดี ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ร่นระยะเวลาแผลปิดเร็วขึ้นกว่าเดิม 90 วัน เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีการทั่วไป

ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ดร.วัฒนจักร พุ่มวิเศษ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) เพื่อติดตามความคืบหน้าเครื่อง Compact Air Plasma Jet รุ่น Nightingale® ภายใต้มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์  ISO 13485 สำหรับดูแลผู้ป่วยแผลเรื้อรัง ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยี“พลาสมาอากาศ”ช่วยในการบำบัดรักษาแผลติดเชื้อเรื้อรัง ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) ให้การสนับสนุนการดำเนินการโดยบริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด มี ศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ ผอ.ศูนย์วิจัยฟิสิกส์พลาสมาและลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มช.ในฐานะหัวหน้าโครงการนำเสนอ

ศ.ดร.ธีรวรรณ กล่าวว่า เครื่อง Compact Air Plasma Jet รุ่น Nightingale® ภายใต้มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 สำหรับดูแลผู้ป่วยแผลเรื้อรัง ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับรองสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งถือเป็น

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สูง โดยเฉพาะผู้ป่วยแผลเรื้อรังที่เกิดจากโรคต่างๆ รวมถึงผู้ป่วยแผลเบาหวาน และผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังนอนติดเตียงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการดูแลรักษาแผลต้องใช้ระยะเวลานาน และหากดูแลไม่ดีก็ยิ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วย ปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วย คือ การแพร่ขยายของเชื้อแบคทีเรีย โดยเครื่องพลาสมาอากาศบำบัดแผลติดเชื้อ เพื่อใช้ในการบำบัดแผลติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะและไม่ทำร้ายเนื้อเยื่อดี ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ใช้ง่ายปลอดภัย ราคาถูก อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสอื่นๆ ในการดูแลรักษาแผลเรื้อรังได้อีกด้วย

“เครื่องพลาสมาอากาศบำบัดแผลติดเชื้อ มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะและไม่ทำร้ายเนื้อเยื่อดี ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ มีศักยภาพในการรักษาแผลกดทับและแผลเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อระหว่างการรักษาระยะยาว ลดความซับซ้อนของการรักษา และลดผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วย ที่สำคัญช่วยลดระยะเวลาในการรักษาแผลในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเรื้อรังและผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสามารถช่วยร่นระยะเวลาของแผลปิดได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 90 วัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะเวลาแผลปิดด้วยวิธีการโดยทั่วไปที่ใช้เวลาประมาณ 180 วัน การใช้ง่ายเพียงแค่ใช้พ่นหลังจากล้างแผลด้วยวิธีมาตรฐานหรือพ่นตามขนาดของแผล เช่นแผลขนาด 10 cm พ่นระยะห่าง 5-10 mm ใช้เวลาเวลา 5 นาที  ทำ 2 ครั้ง/สัปดาห์  ปลอดภัย ราคาถูก และเป็นนวัตกรรมจากองค์ความรู้ของนักวิจัยไทย มีเพียงค่าไฟฟ้าซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองไม่เกิน 5 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการใช้งานเครื่องต่ำมาก” ศ.ดร.ธีรวรรณ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ชนม์เจริญ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ สนับสนุนพลาสมาอากาศมาตั้งแต่ปี 61 ในเรื่องของการวางแผนธุรกิจ การหาผู้ร่วมลงทุนและสนามทดสอบ รวมทั้งการทำมาตรฐานทางการแพทย์ ล่าสุด ยังได้รางวัล Gold Prize และ Special Prize จากงาน Seoul International Invention Fair 2023 (SIIF) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปัจจุบัน ได้ผลิตเครื่องพลาสมาอากาศออกมาแล้ว 40 เครื่อง และได้ส่งไปทดสอบที่โรงพยาบาลใน จ.เชียงใหม่ ลำพูนและสุพรรณบุรี ขณะที่ บ.อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นแรกๆ ของประเทศไทยที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือให้การสนับสนุน.