“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์”ปาฐกถานำ  เรื่องคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : สำนักข่าว ไทยพีบีเอสWorld ภาคภาษาอังกฤษ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ขึ้นกล่าวปาฐกถานำ  อธิบายให้คณะนักวิจัยด้านคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนานาชาติกว่า 80 คน รับฟังเรื่องสาเหตุ ผลกระทบและความรุนแรงของฝุ่น PM2.5  โดยชี้ว่าแม้รัฐจะใช้ความพยายามที่พัฒนาขึ้นในการจัดการแก้ไข แม้แต่พยายามออกกฏหมายจัดการอากาศสะอาด แต่’’ทักษะในการสื่อสารให้เข้าถึงใจของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย’’  ต่างหาก ที่เป็นรื่องที่สำคัญที่สุด การเผาชีวมวล ทั้งในป่าและในไร่ เป็นสาเหตุที่สร้างปริมาณฝุ่นควันมากที่สุด แต่จะเกิดผลร้ายแรงในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี ส่วนฝุ่นควันเคมีจากการสันดาปของยานยนต์และโรงงาน เป็นสาเหตุที่ยังคงเกิดตลอดทั้งปี

การประชุมนานาชาติด้านการวิจัยเรื่อง ‘’บทบาทและอนาคตของนิเวศน์ป่าไม้ ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง’’เป็นเวทีเก่าแก่ที่มีประวัติย้อนหลังยาวนานถึง130ปี จัดโดยองค์การสหภาพการวิจัยป่าไม้ระหว่างประเทศ  IUFRO หรือ  International Union of Forest Research Organization   นับเป็นครั้งแรกที่องค์การIUFRO นำการประชุมนี้เข้ามาจัดในไทย ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)

ผศ. ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล อาจารย์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีรายงานต่อที่ประชุมว่า แม้ปกติสถิติของแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เก็บจากกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร จะสะท้อนว่า 30-40%มาจากการจราจร 20-30%มาจากการเผา และ10%มาจากโครงสร้างทางเคมีที่มีในธรรมชาติและจากโรงงานอุตสาหกรรม

แต่น่าสังเกตว่าช่วงล้อคดาวน์กรุงเทพในช่วงปี2020 และ 2021 ที่การจราจรลดลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน กลับพบว่าPM2.5 ก็ไม่ได้ลดลงตามสัดส่วนเลย  ผศ.ประพัทธ์กล่าว แปลว่าฝุ่นกทม.มาจากแหล่งกำเนิดจากพื้นที่อื่นๆด้วย เราจึงต้องมองให้เห็นบริบทของภาพรวมที่มีหลากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องให้ดี

ในช่วงหย่อมความกดอากาศสูงปกคลุม และมีการเผาในที่โล่งมากสุดช่วงมีนาคมและเมษายน ผู้คนโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี กว่า 3 ล้านคนจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพของทางเดินหายใจ เพราะจะเป็นช่วงที่ค่าฝุ่นทะลุระดับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไปมาก

ปัจจุบันประเทศไทยยังเพิ่งจัดทำศูนย์พักพิงอากาศสะอาดไว้ได้เพียง 50 แห่งสำหรับเด็กๆเท่านั้นเอง

จีนประสบความสําเร็จในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษด้วยความตั้งใจเต็มที่ แต่แม้แต่จีนก็ยังต้องใช้เวลาทำต่อเนื่องถึง8 ปี  จึงคลี่คลายวิกฤตลงได้   ดังนั้น สำหรับไทยแล้ว จึงยังต้องมีมาตรการทั้งกระตุ้น ทั้งบังคับ และการร่วมลงมือทำให้จริงจังกันอีกหลายอย่างมาก

https://www.thaipbsworld.com/thailands-pm2-5-issue-discussed-at-international-conference/embed/#?secret=2DTo6DVRh0