กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ศึกษาพื้นที่ “ป่ากลางกรุง”ที่ปตท.พลิกฟื้นจากที่กองขยะรกร้างกลายเป็นนิเวศป่ากลางเมือง 

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะกรรมาธิการฯไปสำรวจศึกษาตัวอย่าง ‘’ป่าในกรุง ’’  ซึ่งบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)ลงทุนซื้อที่ดินเอกชนที่เคยเป็นกองขยะรกร้างจำนวน 12 ไร่ ในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาพัฒนาให้กลายเป็นนิเวศป่ากลางเมือง  ด้วยแนวคิดสถาปนิกญี่ปุ่น ดร.มิยาวากิ อากิระ ที่ต้องการเลียนแบบป่าท้องถิ่นธรรมชาติ เน้นให้พืชหลากชนิด หลากเรือนชั้น แข่งกันโตในแนวพุ่งสูงขึ้นสู่ฟ้า โดยปลูกต้นไม้อย่างน้อย 5 ต้นต่อตารางเมตร

จากนั้นสร้างทางเดินชมธรรมชาติที่ยกระดับต่างๆขึ้นจนถึงเรือนยอดไม้ และต่อด้วยหอคอยสูงเท่าอาคาร 9 ชั้น เพื่อให้สามารถชมสวนป่ากลางกรุงได้ด้วยวิว 360 องศา

จากประสบการณ์ปลูกป่าล้านไร่ ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.  ที่นี่จึงเรียนรู้ที่จะรวบรวมดินปลูกตัวอย่างจากทั่วภาคกลาง  รวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยมีในเขตกรุงเทพเเละปริมณฑลมาไว้กว่า 270 ชนิด

เริ่มโครงการเมื่อ 2557 แบ่งพื้นที่เป็นสระน้ำ 10% ใช้เป็นที่ตั้งอาคารดินเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ 15% อีก 75%ใช้ปลูกป่า ที่มีทั้งโซนไม้เบญจพรรณ ป่าผลัดใบไปจนถึงป่าชายเลน

เพียง 10ปีผ่านไป ที่นี่ดึงดูดให้ได้พบเจอนกนานาพันธุ์ที่หาชมยาก เข้ามาปรากฏตัวมากถึง 74 ชนิด จาก 37 วงศ์

ที่นี่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมทุกวันอังคารถึงอาทิตย์ (มีกิจกรรมนำชมทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากทำการจองเวลานัดหมายไว้ล่วงหน้า )

ที่นี่ยังอนุญาตให้หน่วยงานและกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาขอใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ’’ปลูกป่าในใจคน ‘’และกิจกรรมอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

‘’ที่นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อัตคัตอย่างมหานครใหญ่ นับเป็นกรณีที่ควรแก่การยกย่อง และเหมาะสมต่อการผลักดันนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่นการได้รับยกเว้นภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การได้รับอัตราค่าไฟฟ้าสาธารณะ การใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิชาการ  การฝึกปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงกล้าไม้ สำหรับคนเมืองต่อไป…’’