คณบดีแพทย์ศาสตร์ศิริราชชี้ไทยพร้อมคลายล็อคมาตรการคุมเข้ม เชื่อคนไทยรวมใจทุกภาคส่วนชนะโควิด-19

คณบดีแพทย์ศาสตร์ศิริราชยืนยันประเทศไทยพร้อมผ่อนปรนล็อคดาว หรือคลายมาตรการต่างๆ ระบุแม้จะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น แต่การติดเชื้อจะค่อยๆ เพิ่มจะไม่เหมือนช่วงแรก แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องพร้อมกลับเข้าสู่โหมดการควบคุมใหม่สลับกันไป  มั่นใจเราจะผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยเราทุกภาคส่วนรวมมือกัน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์สถานการณ์ “การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)”ไลฟ์ผ่านทางเพจ Mahidol Channel และ Siriraj Channel โดยระบุว่า ประเทศเกาหลีใต้ จากที่ดูเหมือนเอาโควิดไม่อยู่ ถึงวันนี้สามารถจัดการโควิดได้ดีมาก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เริ่มต้นดูน่ากลัว แต่เมื่อคนไทยช่วยกันสามารถเกาะกลุ่มในประเทศควบคุมได้ ซึ่งประเทศไทยทำได้ดี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึงสามพันคน อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1.8 และมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 300 กว่าราย ถือว่าทำได้ดีมาก

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ยกตัวอย่างประเทศแคนาดา สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี ด้วยการนำยุทธศาสตร์ The Hammer&The Dance มาใช้ ซึ่งประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่โหมดของการฟ้อนรำ ทันทีที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น แต่การติดเชื้อจะค่อยๆ เพิ่มจะไม่เหมือนช่วงแรก แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องพร้อมกลับเข้าสู่โหมดการควบคุมใหม่สลับกันไปแบบนี้

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เห็นว่า ขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากโหมดทุบด้วยค้อน ไปเป็นโหมดการฟ้อนรำคือ จะเริ่มมีการผ่อนปรนให้ประชาชนจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น เช่น การเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ รวมไปถึงสวนสาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ส่วนสถานที่ที่ยังต้องปิดต่อไปคือ พื้นที่แออัดที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก หรือมีการตะโกนใส่กัน นอกจากนี้ยังต้องเข้มงวดกับบุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศ และยังไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามา

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวหลังจากมีการผ่อนปรนคือ

1.การทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด

2.การค้นหาและติดตามบุคคลเสี่ยงทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยใช้แอพลิเคชั่น

3.การเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองในบุคคลกลุ่มเสี่ยง 4.ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

5.หมั่นล้างมือบ่อยๆ และ 6.รักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือว่ามีเป็นความจำเป็น และผ่อนผันไม่ได้ ส่วนบุคคลที่ควรงดออกจากบ้าน ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ย้ำด้วยว่า ยุทธศาสตร์นี้จะสำเร็จหรือไม่ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่ภาครัฐ หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งหลังมีการผ่อนปรนจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อาจทำให้อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มากเท่าช่วงแรก ในขณะที่หลายประเทศเคยมีบทเรียนจากการผ่อนผันเร็วเกินไป จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนของไทยควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และหากสถานการณ์แย่ลงจะต้องกลับมาควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง โดยจะมีการประเมินผลทุกสองสัปดาห์