นักวิชาการชี้การเมืองปี 65 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดอุบัติเหตุการเมืองใหญ่ทั้งยุบสภา ลาออก หรือแม้แต่การรัฐประหาร

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และกฎหมายมหาชน  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์รายการ “จับข่าวมาคุย”ทางมิติข่าว FM 90.5 ถึงการเมืองปี 2565 ว่า ความขัดแย้งจะดำรงคงอยู่อย่างนี้ไปเลื่อย ๆ  ทั้งการเมืองในและนอกสภา  เช่นในสภาจะเห็นความขัดแย้งพรรคแกนหลักพลังประชารัฐหรือว่าในพรรคร่วมรัฐบาล จะยิ่งมีมากขึ้นเลื่อย ๆ ยิ่งสถานการณ์ของการเลือกตั้งสัญญาณมันชัดมากขึ้นเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวจะมีมากขึ้น ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปรับครม. อภิปรายไม่วางใจ อะไรต่าง ๆ จะเห็นการ เคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งวันนี้ถ้าสัญญาเลือกชัดจะมีมากขึ้นเลื่อน ๆ พรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะพรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้เพื่อเลือกตั้งครั้งหน้า นายกรัฐมนตรีต้องออกมายืนยันเสมอว่าจะอยู่ครบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นครบวาระ 2566 

“แต่การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ สุดท้ายถ้ามันเกิดอุบัติเหตุทาการเมือง ในปี 2565 นั้นอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบเลย อาจจะเป็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี 8 ปีก็ได้ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเรื่องนายกฯลาออก นายกฯยุบสภา หรือบางครั้งอาจจะไปถึงขั้นรัฐประหาร เกิดได้ตลอดสำหรับการเมืองไทย” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

นักวิชาการรัฐศาสตร์ และกฎหมายมหาชน มองว่า ในการเมืองไทยบทบาทหารกับการเมืองยังแยกกันไม่ออก เพราะเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างปฏิรูปกองทัพหรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมของกองทัพก็ยังเอื้ออำนวยที่จะมีการรัฐประหารได้อยู่โดยตลอด การรัฐประหารในสภาพที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่นโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีได้ตลอดเวลา

            “ 20 ปีที่แล้วมีความเชื่อว่าการรัฐประธานปี 2534 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือรสช.จะเป็นครั้งสุดท้ายของการรัฐประหารของเมืองไทยแล้ว แต่สุดท้ายก็ตามมาอีกสองครั้งในปี 2549 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือคมช. และปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ตรงนี้คงเป็นภาพสะท้อนว่าเราคงไม่สามารถตัดทางเลือกตรงนี้ออกไปได้” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

สำหรับการเมืองในปี 2565 นั้น รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า จะมีการร้อนแต่งตั้งแต่ต้นปี การประชุมสภามีการพิจารณากฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สองกฎหมายนี้คือการชิงดำ เพราะระบบเลือกตั้งของประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสานประโยชน์ของคนในสังคมรวมกัน แต่ถูกออกแบบมาเพื่อชิงดำทางการเมือง ชิงไหวชิงพริบ หากใช้สูตรเลือกตั้งแบบนี้พรรคการเมืองไหนจะชนะ สะท้อนภาพว่าเรื่องเทคนิคทางการเมืองยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ ดังนั้นในการพิจารณากฎหมายทั้งสองฉบับจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การเมืองร้อนแรง โอไมครอนจะระบาดจนต้องล็อกดาวน์ประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ จากนั้นจะเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวนอกสภา ม็อบต่าง ๆ จะกลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้งหรือไม่ช่วงกลางปี ส่วนปลายปีจะเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 8 ปี

ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐจะจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้น รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นได้ยากโดยเฉพาะถ้ายังมีชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสมการการเมืองโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยคงเป็นไปได้ยาก อย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยชูประเด็นต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด หากไปจับมือกันพรรคเพื่อไทยจะไปตอบฐานเสียงเขาได้อย่างไร

            “ที่บอกว่าบัตรเลือกตั้งสองใบแล้วพรรคใหญ่จะได้เปรียบนั้น ผมว่า มันมีตัวแปรที่เราต้องพิจารณาคือเรื่องภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย ระบบเลือกตั้งสองใบแบบคู่ขนาดนั้น หรือที่เราเรียกว่า MMM เคยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้การเลือกตั้ง 2544 และ2548 แต่การเลือกตั้งสองครั้งนั้นภูมิทัศน์ของผู้คนในยุคนั้นเขให้ความสำคัญกับการเมืองเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นพรรคไหนนำเสนอนโยบายได้โดนใจประชาชนก็จะกาลงคะแนนสองใบ ใบหนึ่งเลือกคน ใบหนึ่งเลือกพรรค แต่ถ้าภูมิทัศน์ผู้คนเปลี่ยนใบหนึ่งเลือกคน ใบหนึ่งเขาเลือกต่างพรรคไป ดังนั้นไม่เป็นสูตรสำเร็จว่าบัตรสองใบแล้วคนจะกาลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันทั้งสองใบ”รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว