จากกรณี “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวก ก่อเหตุทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต หลบหนี และมอบตัว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดแถลง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ตอบสื่อมวลชน ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และรักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม โพสต์FB เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม โดยระบุว่า “ขอความเป็นธรรม ให้ตำรวจด้วยครับ……..” เมื่อคืนนี้กระผมดูข่าวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งพิธีกรเป็นหญิงกับชาย มีอดีตนายตำรวจนายหนึ่งไปร่วมสังฆกรรมยำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พูดเป็นทำนองว่าคดีผู้กำกับโจ้มีการจัดฉาก… สร้างนิยาย… เล่านิทาน เขียนบทพล็อตเรื่องมาหลอกประชาชน … พิธีกรและผู้ร่วมรายการแสดงความรู้ทางกฎหมาย การสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแบบทะลุฟ้าทะลุดิน แม้กระทั่งพิธีกรหญิงฟังแล้วเหมือนกับเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์สอนระดับปริญญาเอก ต้องเป็นความผิดร่วมกันฆ่าโดยวิธีการทารุณโหดร้ายเท่านั้น ต้องประหารชีวิตอย่างเดียว ตำรวจแจ้งข้อหาครบหรือเปล่า? การแถลงข่าวทำไมต้องตัดบทไม่ปล่อยให้ซักถามในรายละเอียด ทำไมปล่อยให้ผู้กำกับโจ้ออกมาแก้ตัวว่าไม่มีเจตนาฆ่า ไม่ได้เรียกเงิน รับผิดแทนลูกน้อง
ไม่มีอะไรจะต่อว่า จะกล่าวหา จะให้ร้ายแล้ว หมดมุกก็ยังอุตส่าห์กล่าวหา ผบ.ตร.ว่าทำไมขณะแถลงข่าวไม่ถือโทรศัพท์เอง (ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา ฤกษ์รัตน์ ถือโทรศัพท์เพื่อให้เสียงเข้าไมค์) ไม่ใช่โดยเฉพาะคำพูด สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงของพิธีกรมันบ่งบอก…. ตอกย้ำ ซ้ำเติม
ส่วนอดีตนายตำรวจคนนี้ ถ้ากระผมไม่รู้จักมาก่อนจะไม่เชื่อเลยว่าเป็นอดีตตำรวจเพราะออกมาพูดทุกครั้งไม่เคยเลยที่จะพูดถึงตำรวจในแง่ดี สร้างสรรค์… ติเพื่อก่อ… เอาเถอะถึงจะพูดแต่แง่ลบก็ขอให้พูดความจริงก็ยังพอรับได้ แต่นี้ทำตัวเป็นคนขายน้ำแข็งหลอด… กระผมเองเขียนบทความมาก็หลายเรื่องซึ่ง 90% เป็นเรื่องของตำรวจ ท่านลองกลับไปอ่านดูเถอะครับ ผมไม่เคยชม ไม่เคยปกป้อง มีแต่นำประสบการณ์ในการรับราชการตำรวจมาแชร์ให้กับตำรวจรุ่นหลัง ได้นำไปใช้ในการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาให้มีประสิทธิภาพ เพราะกระผมยังรับเงินบำนาญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ ผมเลยไม่แน่ใจว่านายตำรวจคนนั้นกินบำนาญตำรวจอยู่หรือไม่?
1. คดีนี้มีคลิปบันทึกภาพและเสียงขณะเกิดเหตุถือเป็นพยานวัตถุชิ้นสำคัญในคดี เพียงแต่สอบพยานหลักฐานอื่นประกอบให้ชัด ศาลก็น่าที่จะพิจารณาได้แล้วว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น อย่างไร? (ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร?) เมื่อเห็นการกระทำ หรือที่ทางกฎหมายเรียกว่า”กรรม” แล้ว ก็จะสามารถชี้ไปถึงเจตนา(กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา) เมื่อชัดเจนแล้วก็ต้องมาดูต่อว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่?
“เจตนาประสงค์ต่อผล” หรือ “เจตนาเล็งเห็นผล”
คดีนี้ถ้าจะมีเจตนาฆ่าก็จะเป็นเจตนาเล็งเห็นผล(ไม่ได้มีเจตนาจะให้ตาย แต่การกระทำเช่นนั้นวิญญูชนคนทั่วไปเห็นได้ว่าอาจทำให้ถึงตายได้) ในประเด็นนี้มีการนำคำพิพากษาศาลฎีกาปี พ.ศ.2560 มาเทียบเคียง “….จำเลยใช้ถุงดำครอบศีรษะผู้ตายจนขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตายตา…” ซึ่งศาลพิพากษาว่ามีเจตนาฆ่า(เจตนาเล็งเห็นผล) ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีบางส่วนมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างในสาระสำคัญกับคดีผู้กำกับโจ้ เช่น ในคดีตามฎีกา จำเลยเอาเทปกาวพันรอบถุงดำด้วยก็แสดงว่าไม่ต้องการให้อากาศเข้าออกได้ ซึ่งต่างจากคดีนี้เอาถุงดำครอบหัวและจะต้องขอคำตอบเป็นระยะ ซึ่งแปลว่าต้องเปิดถุงดำเป็นระยะเพื่อฟังคำตอบ และเมื่อผู้ตายหมดสติไป ผู้กระทำผิดก็ได้พยายามกู้ชีพผู้ตายอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นที่ประจักษ์(ในคลิปก็ปรากฏ) สำหรับข้อยุติในประเด็นนี้คงต้องให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณา
อานุภาพของคลิปบันทึกภาพจากวงจรปิด ถือเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่จะป้องกัน ปราบปราม และอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาได้เป็นอย่างดี การติดตั้งวงจรปิดให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ก็เท่ากับว่ามีคนจ้องมองเห็นเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะกระทำผิด หากยังกล้ากระทำความผิดก็จะสามารถใช้เป็นหลักฐานติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ และเมื่อติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาได้แล้วภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏในวงจรปิดก็จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการที่ศาลจะใช้ในการวินิจฉัยคดี เหตุการณ์ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเสื้อเหลืองยึดทำเนียบรัฐบาล เสื้อแดงก่อเหตุวุ่นวายที่แยกสี่เสาเทเวศร์ กระผมเป็นทั้งผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว วงจรปิดเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญที่ศาลนำไปพิจารณาพิพากษา เพราะจะปรากฏทั้งภาพและเสียงชัดเจน ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร? โดยไม่ต้องอธิบายเพียงแค่ศาลสอบพยานประกอบ ดังนั้นคดีนี้ไม่ต้องเป็นกังวล ไม่ต้องสร้างประเด็น ไม่ต้องชี้นำ ไม่ต้องมาตั้งข้อรังเกียจ ตั้งข้อสงสัย จีบปากจีบคอ แสดงอาการ น้ำเสียง ท่าทางใดๆ ให้เกิดข้อสงสัยขึ้นในสังคมอีกเลย
ประเด็นการสอบสวนกระผมขอฝากพนักงานสอบสวนเป็นข้อพิจารณาไว้เพียงประเด็นเดียวคือเรื่องอำนาจสอบสวนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ คดีนี้เริ่มด้วยผู้ต้องหากระทำการตามหน้าที่ราชการหรืออันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำการตามหน้าที่ราชการ ซึ่งจะเป็นผลให้คดีอยู่ในอำนาจขององค์กรอิสระคือ ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท.ที่จะทำการไต่สวน อย่างไรหรือไม่? เพราะถ้าสอบสวนไปโดยไม่มีอำนาจจะเกิดความเสียหายแก่รูปคดี
2. คดีนี้ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้ครบถ้วน กระผมนึกภาพไม่ออกว่าถ้าผู้กำกับโจ้หลบหนีไปได้ท่าน ผบ.ตร.จะติดเชื้อ covid-19 หรือไม่? ครั้นจับมาได้แล้วยังถูกกล่าวหาว่าจัดฉาก สร้างนิยาย เล่านิทาน พล็อตเรื่องขึ้นมา การแถลงข่าวก็เป็นลักษณะของการปกป้อง ไม่เปิดโอกาสให้สอบถามผู้ต้องหาได้อย่างเต็มที่ ให้โอกาสผู้ต้องหาแก้ตัว อะไรต่อมิอะไรจิปาถะ!!!!!
กระผมในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องขอขอบคุณ ผบ.ตร. พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ได้ดำเนินการแถลงข่าวให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ โดยหลักห้ามจัดให้มีการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว เพราะจะเป็นการประจานผู้ต้องหาซึ่งตามหลักกฎหมายสากล “ผู้ต้องหาทุกคนยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด ดังนั้นจะปฏิบัติกับเขาเยี่ยงผู้กระทำผิดมิได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ข้อยกเว้นที่จะให้มีการแถลงข่าวได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ “มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ” กรณีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ การจัดแถลงข่าวในรูปแบบที่จัดขึ้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมไม่เป็นการประจานผู้ต้องหา และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลตามสมควรแก่กรณี การที่ท่าน ผบ.ตร.ถามความสมัครใจของผู้กำกับโจ้ว่าเต็มใจที่จะให้ข่าวหรือไม่ก่อนนั้นเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วน และคงฝากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติถือปฏิบัติในการแถลงข่าวในลักษณะนี้เสมอเหมือนกันในทุกคดี อย่าให้มีลักษณะของการประจานผู้ต้องหา
ในเมื่อคดีนั้นไม่มีความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์สาธารณะก็ไม่ควรนำออกมาแถลงข่าว เช่น คนร้ายวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งลักทรัพย์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ห่อ แล้วจับมานั่งแถลงข่าวให้เสียชื่อเสียงแก่ตัวผู้ถูกจับและวงศ์สกุล ส่วนการที่ร้อยตำรวจโทหญิงนั่งถือโทรศัพท์แทน ผบ.ตร.จนเป็นประเด็น ทั้งๆ ที่ไม่ควรเป็นประเด็นนั้น(น่าจะหาประเด็นอื่นไม่ได้แล้ว) ขอบอกให้ทราบว่าร้อยตำรวจโทหญิงคนดังกล่าวเป็นทีมงานประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดแถลงข่าวในครั้งนี้ การถือโทรศัพท์เพื่อให้เสียงในการแถลงข่าวออกไปสู่สาธารณะจึงเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ทีมงานโฆษก ถ้า ผบ.ตร.ไปทำเองเท่ากับ ผบ.ตร.ไปแย่งงานในหน้าที่ของเด็กในทีมงานโฆษกทำไม่ใช่หรือ หรือเป็นเพราะหลังการแถลงข่าวแล้วร้อยตำรวจโทหญิงคนนั้นเกิดโด่งดังขึ้นมาในโลกโซเชียล เลยไปอิจฉาเขาหรือไง!!! นั้นโชว์แค่ครึ่งใบหน้าเท่านั้นเองบอกให้ก็ได้ชื่อหมวดไวกิ้ง ร้องเพลงเพราะ ยิงปืนแม่น
ประเด็นที่พลตำรวจเอก สุชาติ ธีระสวัสดิ์ สั่งเบรกการซักถามผู้กำกับโจ้ ด้วยเหตุผลเนื่องจากกลายเป็นการสอบปากคำ เป็นประเด็นในสำนวนการสอบสวน เป็นการก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง หากไม่เข้าใจให้กลับไปอ่านบทความเก่าที่กระผมเขียนเรื่องคดีน้องชมพู่ ซึ่งทนายลุงพลไปยื่นเรื่องกับกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้เรียก ผบ.ตร.และพนักงานสอบสวนนำพยานหลักฐานมาชี้แจง ซึ่งถือเป็นการก้าวล่วงแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไปก่อนหน้านี้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่หลักในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม/อำนวยความยุติธรรมในทางอาญา ซึ่งถือเป็นต้นทางแห่งความยุติธรรม นับได้ว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญของบ้านของเมืองนี้ ขอทุกคนที่จะต้องช่วยกัน จรรโลงไว้ให้มีความมั่นคง น่าเชื่อถือศรัทธา หาใช่มาคอยเหยียบย่ำ ซ้ำเติม สาดสี ตีไข่ ใส่ความให้เสื่อมเสีย ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าศรัทธา ทำนองเดียวกับวัดทุกวัดก็เป็นสถานที่ จรรโลงพุทธศาสนาเช่นกันทุกวัด ดังนั้นถ้ากระผมผ่านไปวัดมณฑป ตลิ่งชัน กระผมก็จะลงใส่บาตรทำบุญไม่ว่าทางวัดจะเผาหรือไม่เผาศพตำรวจก็ตาม ตำรวจ สน.ตลิ่งชัน ก็ยังคงไปตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยวัดไก่เตี้ย วัดตลิ่งชัน วัดมณฑป อยู่เช่นเดิม การปฏิรูปตำรวจซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็เป็นความหวังที่จะทำให้องค์กรนี้ดีขึ้น เมื่อวานนี้ (27 ส.ค. 2564 ) กระผมในฐานะกรรมาธิการได้เสนอในที่ประชุมให้เร่งพิจารณากฎหมายเพื่อการปฏิรูปตำรวจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ถ้าไม่เช่นนั้นสังคมจะทำการปฏิรูปคณะกรรมการปฏิรูปเสียเอง จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาในหัวข้อสำคัญคือองค์ประกอบของ ก.ตร. หลักเกณฑ์การแต่งตั้ง งานสอบสวนเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การพิจารณากฎหมายเร็วขึ้นจึงควรจะช่วยกันไปเร่งรัดติดตามเรื่องการปฏิรูปตำรวจน่าจะดีเสียกว่า
ฝากเรียนอดีตนายตำรวจบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้น และอีกคนหนึ่งข่าวว่าเป็นนายดาบตำรวจอยู่ทางภาคใต้ลาออกไปเล่นการเมืองท้องถิ่น ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ ออกมาให้ข่าวว่าวิธีการเอาถุงครอบศีรษะเขาทำกันมา 30 ปีแล้ว ไอ้คำว่าเขา มันคือคุณคนเดียวไม่เกี่ยวกับคนอื่นนะ ผมก็ไม่เคยทำอย่ามั่ว… สรรพนามใช้คำว่าเขาไม่ได้ ถ้าคุณทำคุณก็ต้องบอกว่าคุณ ฝากตำรวจช่วยไปสืบดูว่าเกิน 20 ปีแล้วยัง ถ้ายังให้เอาตัวมาดำเนินคดีด้วย กินเงินเดือนเบี้ยหวัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะข้าราชการบำนาญ ไม่ได้ห้ามท่านที่จะพูดในแง่ลบของตำรวจ ยิ่งดีซะอีกจะได้นำมาแก้ไข แต่ขอให้พูดความจริงบ้าง ไม่ขอให้พูดชม แต่อย่าพูดเท็จเท่านั้นพอ
กระผมทราบดีกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่าน ผบ.ตร. ทีมงานโฆษกตำรวจ ชุดสืบสวนสอบสวนคดีนี้ คงไม่มีใครออกมาชี้แจงและจะกลายเป็นว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการรับสารภาพ ยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้น กระผมจึงขอออกมาชี้แจงทำความเข้าใจแทนองค์กรตำรวจอันเป็นที่รักยิ่งโดยสุจริตใจ และหากพาดพิงถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 สิงงหาคม 2564 พล.ต.ท.อำนวย โพสต์FB ว่า “อับอาย อัปยศ อดสู…”
สุดที่จะพรรณนากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายตำรวจระดับผู้กำกับการหัวหน้าสถานีใหญ่แห่งหนึ่งนำทีมกระทำต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด ด้วยการทรมานทรกรรม โดยวิธีการนำถุงดำมาครอบศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ หายใจไม่ออก ทรมาน จะเพื่อให้รับสารภาพโดยหวังผลในทางคดีหรือเป็นการรีดเอาทรัพย์ 2 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวก็ตามทีเถอะ!!!! ซึ่งนั่นมันเป็นวิธีการสมัยโบราณ เป็นวิธีการสืบสวนสอบสวนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อคราที่ยังใช้กฎหมายจารีตนครบาล ให้นำการทรมานทรกรรมด้วยรูปแบบต่าง ๆ มาใช้กับผู้ต้องหาเพื่อค้นหาความจริงด้วยการใช้วิธีการต่าง ๆ … บีบขมับด้วยเครื่องบีบขมับ ตอกเล็บ ใส่ไปในลูกตะกร้อให้ช้างเตะ … จะพิสูจน์ว่าคนใดพูดความเท็จ คนใดพูดความจริง ใช้วิธีดำน้ำแข่งกันใครอึดกว่าโผล่พ้นน้ำทีหลังคนนั้นพูดความจริง วิธีการทั้งหมดทำถูกต้องตามที่กฎหมายในขณะนั้นบัญญัติ ผู้กำกับการคนนี้กับบรรดาลูกน้องที่ร่วมทีม น่าจะเกิดเป็นตำรวจในยุคนั้นถึงได้นำวิธีการทรมานทรกรรมตามกฎหมายจารีตนครบาลกลับมาใช้ในชาตินี้ กลับมาเกิดใหม่ทั้งทีน่าจะนำเรื่องดี ๆ มาใช้ในชาติใหม่นี้…..
รู้หรือไม่ว่า ด้วยการใช้วิธีการที่ป่าเถื่อน ล้าสมัยไร้เหตุผล ขาดตรรกะด้วยวิธีการดังกล่าว จนทำให้ชนชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมที่เข้ามาในประเทศสยาม อ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย โดยได้ตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีความของพวกตนเองขึ้นในแผ่นดินสยาม ไม่ยอมขึ้นศาลไทยเราเรียกกันว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไงล่ะ …. งั้นก็แปลว่าสยามประเทศได้สูญเสียอำนาจ 1 ใน 3 คือ อำนาจตุลาการไปแล้วโดยปริยาย คงเหลืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร คงค่อย ๆ คืบคลานปฏิเสธไม่ยอมรับ หากครบสามอำนาจเมื่อใดสยามประเทศก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นโดยทันที(เรื่องนี้ถึงขนาดจะทำให้เสียเมืองเชียวละ)
แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ พระบารมี ของพระบูรพกษัตริย์สืบต่อกันมาหลายพระองค์ได้ทำการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัย กล่าวเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และตำรวจได้เร่งทำการปฏิรูปเพื่อให้ชาวต่างชาติยอมรับให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต กลับมายอมรับกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และตำรวจของสยามประเทศ จึงได้มีการปฏิรูปตำรวจเสร็จภายใน 1 ปี ระหว่างปี พ.ศ 2404 ถึง 2405 โดยมีเจ้าพระยายมราช(ครุฑ บ่วงราบ) เป็นแม่กองในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจึงได้รับการถวายพระนามว่า “พระบิดาแห่งตำรวจไทย” ทำการปฏิรูปกฎหมายเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมี กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นแม่กอง เราจึงมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ประกาศใช้ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศสยาม โดยให้ยกเลิกกฎหมายจารีตนครบาลซึ่งเมื่อตำรวจมีความทันสมัย กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายมีความทันสมัย วิธีการค้นหาความจริงด้วยพยานหลักฐานใช้ตรรกะวิทยา วิชาที่ว่าด้วยเหตุผล การชั่งน้ำหนักพยาน เลิกการใช้วิธีบีบขมับ ตอกเล็บ ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ เอาถุงดำคลุมศีรษะ จิปาถะที่เป็นการทรมานทรกรรมไปเสียสิ้นแล้ว ชาวต่างชาติจึงไม่มีเหตุที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมต่อไปอีก จึงยอมคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมายอมขึ้นศาลไทย มันสำคัญถึงขนาดจะเสียบ้านเสียเมืองกันเชียวนะ!!
ชาวต่างชาติปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไทย เกิด”สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าคนไทยด้วยกันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไทย เกิด”สิทธิสภาพในอาณาเขต”ขึ้นละ จากเหตุกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่สร้างความเป็นธรรมในสังคม ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของ… ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือของ… ขาดความเป็นอิสระ เล่นพรรคเล่นพวก เข้าไม่ถึง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้…. แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ จะยังไม่ยอมปฏิรูปตำรวจให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วอีกหรือ การปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เวลาในการปฏิรูปตำรวจเพียงปีเดียวแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 260 บทบัญญัติให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี เช่นเดียวกันแต่นี่เข้ามา 3-4 ปีแล้วยังไม่มีวี่แวว จะรอให้เกิดสิทธิสภาพในอาณาเขตกันขึ้นจริง ๆ หรืออย่างไร? วานบอก
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระผมขอความเป็นธรรมให้กับบรรดาข้าราชการตำรวจ เป็นเรื่องความประพฤติ พฤติกรรมส่วนบุคคล ผมเรียนจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ไม่เคยสั่งสอนพันอย่างนี้ จบออกมาปฏิบัติหน้าที่จนเกษียณอายุราชการ ไม่เคยประพฤติ ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นการกระทำเยี่ยงนี้ ระหว่างรับราชการเป็นครูบาอาจารย์ก็ไม่เคยสั่งสอนใครให้ทำอย่างนี้ แต่ยอมรับความจริงว่า “ปลาตายตัวเดียวย่อมทำให้เหม็นไปทั้งข้อง” ถ้าได้ปฏิรูปตำรวจปัญหานี้จะแก้ไขได้โดยไม่ยาก ในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกำหนดให้มีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนตำรวจ เรียกย่อว่า กร.ตร. ซึ่งจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาตรวจสอบความประพฤติ พฤติกรรมของข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องเรียน ญาติผู้เสียชีวิตก็จะกล้าร้องเรียนแทนที่จะไปร้องกับผู้บังคับบัญชาของตำรวจเองให้ตรวจสอบกันเอง เป็นอาทิ
พล.ต.ท.อำนวย ยังลงท้ายด้วยพุทธสุภาษิต ด้วยว่า “กัมมุนา วัตตติ โลโก” สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร