เมื่อเวลา 22.00 น. วันนี้ (7 ต.ค. 2564) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทาง
ทิศเหนือค่อนทางทิศตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564
อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05.00 น.
(ลงชื่อ) ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์) อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบัน จึงได้มอบหมายให้ กอนช. มีการติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ จากข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศในระยะนี้โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ตั้งแต่วันนี้ – 12 ต.ค. 64 ฝนจะมีปริมาณลดน้อยลง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ให้สถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ สทนช. และกรมชลประทาน เร่งพิจารณาปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยสั่งการให้กรมชลประทานลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในอัตราประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที จากอัตราการระบายปัจจุบันที่ 800 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระดับน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ให้ไม่เกินความจุ
โดยคาดว่าพรุ่งนี้ระดับน้ำใน จ.สระบุรี จ.ลพบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีปริมาณลดลงตามลำดับ นอกจากนี้ ยังให้เร่งบริหารจัดการพื้นที่น้ำท่วมบริเวณพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทุ่งรับน้ำ ภายใน 2 วัน เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยไว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีแผนจะลดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนลงให้อยู่ในอัตราประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที ภายใน 1 พ.ย. นี้ หากไม่มีฝนตกเพิ่ม พร้อมได้กำหนดแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ให้เหลือน้อยกว่า 20% ภายใน 1 เดือน ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณวันที่ 8-11 ต.ค.นี้ อาจจะมีฝนตกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่อาจได้รับผลกระทบจากมวลน้ำจากฝั่ง สปป.ลาว จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดย กอนช. จะมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนนี้จะส่งผลดีในการเติมน้ำเข้าแหล่งน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งหน้า
นอกจากนี้ กอนช. ยังได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์ทั้งในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีอย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์ลุ่มน้ำมูล ณ ปัจจุบัน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและล้นตลิ่งในพื้นที่ตอนล่าง โดยจากการประเมินล่วงหน้าจากข้อมูลฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ อ.สตึก จ.สุรินทร์ อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม อ.รัตนบุรี จ.ร้อยเอ็ด อ.โพนทราย อ.สุวรรณภูมิ จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองศรีสะเกษ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ อ.บึงบูรพ์ อ.ยางชุมน้อย อ.ราษีไศล อ.ศิลาลาด อ.อุทุมพรพิสัย อ.กันทรารมย์ โดยคาดว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่ง 50 ซม. – 1 เมตร
นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงประมาณวันที่ 16-20 ต.ค. 64 จะมีมวลน้ำจากลำน้ำชีไหลมาสมทบลงแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.เขื่องใน อ.ดอนมดแดง อ.ม่วงสามสิบ อ.วารินชำราบ อ.สว่างวีระวงศ์ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการจัดจราจรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชี มูล ตอนล่าง และลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองอุบลราชธานีในช่วงต่อจากนี้ด้วย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 12-15 ต.ค. 64 จะมีฝนตกในภาคกลางโดยทั่วไป และหลังจากวันที่ 16 ต.ค. 64 ปริมาณฝนในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก จะลดลง โดยจะมีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยได้มอบหมายให้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดจากพายุ ในช่วง 7 วันข้างหน้า ที่อาจส่งผลกระทบประเทศไทย และรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่องมายัง กอนช. เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการน้ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร