ผลการปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสใบและดอก:

 

ผลการปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสใบและดอก:

กรณีอุทยานแห่งชาติทับลานกับกฏหมายอุทยานฉบับใหม่2562

กฏหมายพรบ.อุทยานแห่งชาติของไทยแต่ดั้งเดิมมานั้น ไม่เคยเชื่อแม้สักนิด ว่าคนอยู่กับป่าได้

การประกาศเขตอุทยานก็ทำกันบนแผนที่ ขีดคร่อมทับพื้นที่กว้างใหญ่
โดยไม่รู้ชัดหรอกครับว่าจะมีใครอยู่มาก่อนหรือไม่ กฏหมายบอกให้มาโต้แย้งในเวลาที่กำหนด

ดังนั้น ใครไม่ได้มาโต้แย้งคัดค้านแปลว่า ไม่ได้รักษาสิทธิ ส่วนพวกเค้าจะรู้กนังสือหรือรู้สิทธิของตัวเองหรือเปล่า รัฐคงไม่ได้คำนึง

นึกแค่จะรักษาป่าไม้ไว้เสียก่อน

แต่แล้วรัฐก็ไม่ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาอุทยานมามากพอจะดูแลทั่วถึงตามเขตที่ประกาศ

คนที่เคยอยู่ที่นั่นมาก่อนก็อาจไม่รู้เรื่องกฏกติกาเหล่านี้

คนที่ย้ายมาใหม่ก็มีทั้งที่รู้ว่าตรงไหนเขตป่าและที่ไม่รู้

เพราะรัฐก็ไม่เคยทำเขตป่าตามที่อ้างไว้ในแผนที่แนบท้ายการประกาศป่าเขตอุทยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ในช่วงปี2522-2530 ชาวบ้านบางกลุ่มถูกทางการพาย้ายออกจากพื้นที่สู้รบกับคอมมิวนิสต์แล้วเอามาแหมะไว้ในที่ดินที่ต่อมาภายหลังถูกประกาศเป็นเขตป่า หรือประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประกาศเป็นอุทยานก็มาก

ชาวบ้านไม่หือไม่อืออะไร เพราะถือเสียว่า ทางการพาให้ฉันมา ยังไงฉันก็ไม่ใช่คนรุกป่า

แต่ก็มีเหมือนกันที่ชาวบ้านรุกป่าเพราะไม่เห็นมีใครมาว่า และก็มีทั้งที่มีใครมาก้ามแต่ก็แอบเข้าไปรุกดื้อๆ

พวกนายทุนที่เคยรุกป่าเองแต่ต่อมาไม่อยากถูกจับก็เริ่มหันใช้วิธีรับซื้อพืชไร่พืชเศรษฐกิจ อันเป็นผลให้ชาวบ้านเลือกจะรุกป่าเองเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะได้เอาผลผลิตไปขายนายทุน

เผลอแผลบเดียว ป่าก็ถูกรุกรานจนเสียหายเยอะแยะ

หนักเข้าก็มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่ปัญหาการเลือกปฏิบัติ การจ่ายค่าคุ้มครอง จ่ายค่าปิดตากัน

บางพื้นที่หากความแตกก็เกิดเรื่องอื้อฉาว มีทั้งฝ่ายกฏหมายรัฐมาจับกุมดำเนินคดี มีบางกรณีที่เจอคนใจร้อนจัด ใช้กฏหมายป่าชำระแค้นกันเองก็มีเป็นข่าว

แม้มีผู้พยายามหาวิธีทบทวนวิธีวางกติกาคนกับป่าหลายครั้ง

แต่ถ้ายกเว้นกฏหมายป่าชุมชนที่ใช้เวลาไปราว20ปีแล้ว

กฏหมายอื่นที่จะเกิดขึ้นมารองรับสิทธิและวางบทบาทคนกับป่าแบบไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับข้อจำกัดของกันและกันแทบจะไม่มีออกมาได้เลย

การทวงคืนผืนป่าแบบไม่แยกแยะใครๆทั้งสิ้นจึงกลับทำให้สัมพันธภาพระหว่างชาวบ้านกับรัฐร้าวและห่างถ่างจากกันออกไปเรื่อยๆ

ไม่มีใครถูกหมดหรือผิดหมดหรอกครับ

แต่นั่นจึงทำให้การปลูกป่าในใจคน กลายเป็นได้แค่โปสเตอร์ชะโลมใจให้คนเมือง

แต่คนในป่าและคนใกล้ป่าจำนวนมากกลับชอกช้ำ เพราะปลูกไปก็ถูกไล่ ถูกคดี มีคุกเป็นที่หมาย

แม้อยู่แบบบำรุงรักษาก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะกฏหมายไม่อนุญาตเด็ดขาด โดยเฉพาะกฏหมายอุทยาน

เมื่อราวห้าปีที่แล้ว ดร.บัณทูร เศรษฐสิโรจน์ นักวิชาการหนุ่ม ในฐานะผู้บริหารจากมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อตั้งโดยท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย โทรหาศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในโอกาสแรกที่ดร.บัณทูรได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในกรรมการป.ย.ป.(ย่อมาจากวางแผนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและทำความปรองดองแห่งชาติ อะไรยังงี้แหละ) ว่าดร.บัณทูรอยากให้ อ.สุรเกียรติ์ ช่วยทาบทามผมไปร่วมเป็นอนุกรรมการปยป.หน่อย เพราะอยากมีนักกฏหมายเข้ามาร่วมคิดร่วมออกแบบ สิ่งที่จะ ปยป.กัน

ดร.สุรเกียรติ์ทาบทามผม ผมก็รับคำชวนเพราะทั้งเคยเรียนจบกฏหมายสิ่งแวดล้อมสมัยเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย ฮารวารด์
และอาศัยว่าเคยมีประสบการณ์บริหารและออกแบบนโยบายสาธารณะมาก่อน

หนึ่งในหัวข้อที่ตกลงว่าน่าจะทำก็มีเรื่อง การปฏิรูประบบบริหารราชการ
กับอีกเรื่องคือการปฏิรูปกฏหมายเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้

และนี่เอง ที่ทำให้ผมได้เข้ามาร่วมในกิจกรรมเบื้องแรกของการหาวิธีแก้พรบ. เป็นชุดเกี่ยวกับ “ป่าไม้ของไทย” ซึ่งรวมถึงอุทยาน ด้วย

โดยคิดอ่านจะทำประมวลกฏหมายป่าไม้ขึ้นมา

ดร.บัณทูรจึงนำพวกเราไปเข้าประชุมนำเสนอไอเดียนี้กับ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ในเวลาต่อมาที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ย่อว่า ทส.)

ที่นั่น ท่านรัฐมนตรีว่าการทส. พร้อมท่านปลัดกระทรวงและอธิบดีทุกกรมนั่งร่วมประชุมกับพวกเราตั้งแต่บ่ายสี่จนถึงทุ่มเศษ

แม้ไม่ได้รับปากว่าจะทำอย่างที่พวกเราคิด แต่การรับฟังโดยกำหนดให้ปลัดและอธิบดีอยู่ร่วมจนเลิกประชุมนั้น น่าจะเป็นสัญญานที่ดี

เรากลับกันลงมาที่บันไดหน้ากระทรวงด้วยความรู้สึกดี

เพราะอย่างน้อยผู้ใหญ่ของกระทรวงก็อุตสาห์รับฟัง

แต่ไม่ถึงขนาดที่จะรู้ว่าในที่สุดอีกห้าปีถัดมา

คำว่า คนอยู่กับป่าได้…เมื่อเข้าใจกันและกัน

จะมีที่ยืนในกฏหมายขึ้นมา

เชิญติดตามอ่านต่อในภาค2ครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
รองประธานกรรมาธิการ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา

1 กรกฎาคม 2563