‘คุณหญิงกัลยา’ แถลงผลงาน 6 เดือน ชูอัจฉริยะเกษตรประณีต ใช้โค้ดดิ้งบวกความรู้วิทย์ สร้าง Smart Intensive Farming

24 ก.พ.65- คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) แถลงผลงานของหน่วยงานในกำกับ ในรอบ 6 เดือน ตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การกำกับดูแลของตนเองได้วางรากฐานการศึกษาไทยเพื่อไปสู่ศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัลด้วย Coding และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STI (Science/Technology/Innovation) นับเป็นการปฏิรูปไปถึงตัวเด็กโดยตรง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต ทุกนโยบายที่หน่วยงานในกำกับได้ขับเคลื่อน มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีความรู้ ความสามารถไม่แพ้เด็กชาติในโลก และกระทรวงศึกษาธิการก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มสมรรถนะนักเรียนให้มีมาตรฐานสากล เช่น การเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการสอบประเมิน PISA การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมในโครงการวิทยาศาสตร์พลัง 10 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้นำ Coding และวิทยาศาสตร์ ไปประยุกต์ใช้กับการเกษตรจนประสบความสำเร็จ ในโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โดยขณะนี้ทาง สพฐ.ได้ดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดการยกระดับองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 600 โรงเรียนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเมื่อโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตสามารถขยายประโยชน์ไปสู่ชุมชน เกิดการสร้าง Smart Intensive Farming แล้วจะช่วยพัฒนาและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“กว่า 3 ปี ที่ดิฉันได้เข้ามาก็ได้วางรากฐานการศึกษาไทยด้วย Coding และ STI ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยจะไม่แพ้ชาติใดในโลก คะแนน PISA ของเราจะสูงขึ้น การศึกษาไทยจะไม่ด้อยไปกว่าประเทศใน OECD ซึ่ง Coding และ STI จะเป็นรากฐานสำคัญในการเชื่อมต่อกับทุกองค์ความรู้ไม่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แต่รวมไปถึงด้านการเกษตรซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย ส่วนประเด็นเรื่องการจัดหา Smart Devices เพื่อรองรับการเรียนการสอนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ก็ได้มีความคืบหน้า โดยคาดว่าก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ จะสามารถจัดหา Smart Devices ให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเครื่อง และเตรียมที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ต่อไปสำหรับปีงบประมาณ 2566-2570 ”รมช.ศธ. กล่าว