อุทยานวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ภูมิภาคยกระดับคุณภาพชีวิต ความสามารถในการแข่งขัน ผู้ประกอบการเหนือแห่ใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหาร

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (FOODFABR: Innovative Food Fabrication Pilot Plant) เพื่อตรวจเยี่ยมผลงานการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้วยเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(RD Facility Boost Up) โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะผู้บริหารนำเยี่ยมชมผลงานเด่นที่ภาคเอกชนได้เข้ามาใช้ห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบเพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์และผลิตเพื่อทดสอบตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์น้ำอินผลัมสด  น้ำพริกหนุ่มอบแห้งฟรีซดราย ผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มอบแห้งฟรีซดราย และผลิตภัณฑ์กระเทียมปรุงรส โดยบริษัททุ่งสุวรรณ ออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด ใช้บริการผลิตกระเทียมปรุงรสจากโรงงานต้นแบบมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

น.ส.ทิพวัลย์  เปิดเผยว่า ผลงานเด่นที่ผู้ประกอบการนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นผลงานการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้วยเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (RD Facility Boost Up) ภายใต้แผนงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยบางส่วนผ่านโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้วยการสนับสนุนภาคเอกชนให้มาใช้บริการห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบ ซึ่งให้บริการตรวจวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์และผลิตเพื่อทดสอบตลาด โดยจะสนับสนุนไม่เกิน 80% ของค่าบริการ และไม่เกิน 300,000 บาท ต่อหนึ่งโครงการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ภูมิภาคเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความสามารถในการแข่งขันเชิงพื้นที่ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและภาครัฐ รวมถึงช่วยผสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานระดับผู้ให้ทุน ผู้สนับสนุนนโยบายเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่อันจะนำไปสู่การพัฒนาในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวหลังนำคณะเยี่ยมชมโรงงานว่า โรงงานต้นแบบฯ สนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีโอกาสในการขยายขนาดธุรกิจ ทำให้เพิ่มอัตราการลงทุน การจ้างงานในพื้นที่พร้อมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยมีการให้บริการใน 4 สายการผลิต ได้แก่ 1. กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทปรับกรด เช่น น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ซอส แยม 2.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรดต่ำ ที่มีค่า ph มากกว่า 4.6 และมีค่า Water Activity มากกว่า 0.85(ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เช่น นม เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท 3.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทการทำแห้ง หรือลดความชื้นของอาหารด้วยการระเหยน้ำด้วยวิธีอบแห้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ชงละลาย อย่างนมผง ชาผง กาแฟผง ผักผลไม้อบแห้งด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น แคปซูล สมุนไพรอัดเม็ด นมอัดเม็ด สารสกัด และ 4.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Premium quality product สารสกัด สารให้กลิ่นรส โดยไม่ใช้ความร้อน

ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในระยะเวลา 5 ปี โรงงานต้นแบบฯ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้ารับบริการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยสามารถสร้างโอกาสให้แก้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยจากภาครัฐได้ไม่น้อยกว่า 700 รายพร้อมสร้างการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจากเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เขตภาคเหนือได้ถึง 1,600 อัตรา