กรมส่งเสริมการเกษตร เยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัย จ.เชียงใหม่

“กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่เยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยเชียงใหม่”

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรหลังน้ำลด ชี้แจงทำความเข้าใจหลักเกณฑ์การช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหลังจากน้ำลดเน้นย้ำหน่วยงานในพื้นที่ ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้ทันเวลา ตามความต้องการของเกษตรกร และความเหมาะสมของพื้นที่เกษตร พร้อมมอบปัจจัยการผลิต ชีวภัณฑ์ แก่เกษตรกรพื้นที่ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ,นายธีรศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชเชียงใหม่ ,ผู้แทนศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 ลำพูน,นางลาวัณ อุ่นจัน เกษตรอำเภอจอมทอง ร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้

กรมส่งเสริมการเกษตรได้เยียวยาเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ผ่านจัดเตรียมต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ โดยเฉพาะพืชผักสวนครัว อาทิ พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือพวงกะเพรา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว และไม้ผล เป็นต้น ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ อาทิ กล้วยน้ำว้า มะละกอ ทุเรียน กาแฟ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรนำไปทดแทนต้นพันธุ์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อน้ำลดลงแล้วนั้นเกษตรกรติดต่อขอขอรับพันธุ์พืชคุณภาพดีได้จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชใกล้บ้านท่านทั้ง 10 ศูนย์ รวมทั้งเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่มีทั้งพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย สามารถมาขอรับได้จากสำนักงานเกษตรจังหวัด และ (ศทอ.) ทั้ง 9 ศูนย์นำไปใช้งาน เพื่อป้องกันเชื้อราให้กับต้นไม้ที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน และหากไม่มั่นใจกับอาการของต้นพืช สามารถสอบถามปัญหาโรคพืชได้ที่คลินิกพืช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดเช่นกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ หากเครื่องมือทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งได้พัฒนาสนับสนุนสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ภายใต้โครงส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาตลอดหลายปี จึงมีเกษตรกรช่างฝีมือที่มีความสามารถทั่วประเทศสามารถช่วยเหลือในเบื้องต้นให้กับพี่น้องเกษตรกรได้

นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าจังหวัดเชียงใหม่มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 19 ก.ย. 2565 จำนวน 18 อำเภอ เกษตรได้รับความช่วยเหลือคิดเป็นเงิน 4,758,165.73 บาท ส่วนภัยที่เกิดจากอิทธิพลพายุโนรู พื้นที่ที่คาดว่าได้รับผลกระทบ 8,339.50ไร่ จำนวน 10 อำเภอ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการช่วยเหลือ สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือและช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยมีอัตราดังนี้ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่ละพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่

ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในทุกพื้นที่เข้าให้ความรู้ด้านการดูแลต้นพืช และพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภายหลังน้ำลด ซึ่งการดูแล บำรุง และรักษาตามชนิดพืช ตามความเหมาะสมของพื้นที่ได้อย่างถูกวิธีจะช่วยทำให้ต้นพืชได้รับการฟื้นฟูเร็วขึ้น และส่งผลดีต่อการผลิตในรอบถัดไป