ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงข่าวผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 4/2563
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ารัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศโดยรวมถือว่ามีความคืบหน้า ที่ผ่านมาที่ประชุม ศบศ. ได้อนุมัติหลักการ/มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่ 1 การแก้ไขปัญหาว่างงาน โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมการจ้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ และผู้ว่างงาน จึงได้มีการจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ผู้เข้าร่วมงานกว่าแสนคน ทั้งนี้ เว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ ” ยังคงเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถประกาศรับลูกจ้างเพิ่มเติม
ส่วนที่ 2 การกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ ได้ขยายเวลาโครงการถึงวันที่ 31 ม.ค. 2564 ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ให้ประชาชนคนไทยช่วยกันสนับสนุนธุรกิจโรงแรม อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการกระตุ้นการเดินทาง Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย จัดทำแพคเกจโปรแกรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ให้แก่บริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการเข้าพักในจำนวนหลายห้อง ในราคาพิเศษ ซึ่งมีภาคเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก
ส่วนที่ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน เป็นเวลา 3 เดือน ในวงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท “โครงการคนละครึ่ง” โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 2 แสนราย ซึ่งจะมีผู้ได้รับสิทธิ 10 ล้านคน รัฐบาลสนับสนุนในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และอีกครึ่งหนึ่งเป็นวงเงินจากผู้ได้รับสิทธิ 3 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 6 หมื่น ล้านบาท รวมทั้งหมดแล้วจะมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 8.1 หมื่นล้านบาท วันนี้ ที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบในหลักการ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อให้กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือกลุ่มผู้ประกอบการสามารถลดหย่อนภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 เมื่อใช้จ่ายถึง 3 หมื่น บาท คาดว่าจากโครงการจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อนำเสนอแก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ประคับประคองธุรกิจ ช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ยังได้รับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบศ. ยังหารือถึงมาตรการเปิดประเทศในอนาคต ดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เพื่อหารายได้ให้แก่ประเทศ โดยภาพรวมแล้วในช่วง 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา อัตราความมั่นของผู้บริโภค อัตราการผลิต อัตราการเข้าพักในโรงแรม ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการปรับโครงสร้างหนี้ของจำนวนหนี้ที่พักชำระในช่วงล็อคดาวน์ ยอดเงินกว่า 6-7 ล้านล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องจำนวน 12.5 ล้านราย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมโรงแรมไทย ร่วมบูรณาการเพื่อจัดหามาตรการแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว
โอกาสนี้ เลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเคลื่อนตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตสินค้าจากการเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อัตราการเข้าพักห้องพักต่าง ๆ อยู่ที่ร้อยละ 26.9 ในส่วนของแรงงาน ผู้ใช้สิทธิตามมาตรา 75 ขณะนี้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ การผ่อนคลายมาตรการยังส่งผลให้ธุรกิจขยับตัวดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (1) การเยียวยาช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อย SMEs Corporate ได้แก่ ลูกหนี้ รายย่อยรวมมูลค่า 3.84 ล้านล้านบาท จำนวน 10.97 ล้านบัญชี ลูกหนี้ SMEs รวมมูลค่า 2.14 ล้านล้านบาท จำนวน 1.12 ล้านบัญชี และลูกหนี้ corporates รวมมูลค่า 0.92 ล้านล้านบาท จำนวน 37,114 บัญชี (2) การเตรียมมาตรการรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะต่อไป โดยลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ DR BIZ ซึ่งเป็นระบบ one stop service ให้ลูกหนี้ได้ติดต่อเจ้าหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เดิม และมีโอกาสได้สินเชื่อใหม่ และ (3) สถาบันการเงินติดตามดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง จะหมดในปลายเดือนนี้ จะมีมาตรการต่อเนื่องต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงมาตรการ Smart Visa ที่สำคัญ ดังนี้ (1) ปรับปรุงขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) เพิ่มเติมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ไม่มีสัญญาจ้างงานในประเทศ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิ ทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (3) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำสำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงบางกลุ่มในธุรกิจวิสาหกิจและขนาดย่อม(SMEs) และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประสบการณ์ การทำงาน และวุฒิการศึกษาของผู้ บริหารระดับสู ง และ (4) การอนุญาตให้ผู้ ถือ Smart Visa ทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับการรับรองได้ในบางกรณี โดยให้สามารถทำงานในกิจการอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหรือความเชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบขยายเวลามาตรการเราเที่ยวด้วยกันไปจนถึง 31 มกราคม 2564 และได้มีการปรับเงื่อนไขบางประการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง และใช้สิทธิโครงการให้มากขึ้น
เลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังเผยถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภค เพิ่มเติมคือ “มาตรการช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี สำหรับประชาชนซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท สามารถที่จะไปลดหย่อนภาษีได้ โดยมาตรการจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ในเดือนมีนาคม 2564
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร