รองนายกรัฐมนตรีแจงเหตุรัฐบาลมีความจำเป็นประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมยืนยันรัฐบาลได้ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมด้วยแล้ว

ที่รัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง สืบเนื่องจากผู้ชุมนุมมีขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาด และสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคไข้หวัดที่อาจจะพัฒนาบานปลายเกิดเป็นปัญหาต่อเนื่องได้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแล้ว ได้แก่
1) กรณีเรียกร้องขอให้มีการเปิดสภาสมัยวิสามัญ
2) กรณีเรียกร้องให้มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกแล้วตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 22 ต.ค. 2563 และ
3) กรณีขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสภาแล้ว อีกทั้งประธานวิปฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงแล้วว่า จะเปิดสภาสมัยสามัญตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 อีกไม่กี่วันนี้

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้ทำ Timeline ว่าหากจะเร่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร็วที่สุดนั้น จะกระทำได้อย่างไร ซึ่งหากนำเอาร่างรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน 1 ฉบับ ของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ รวมเป็น 2 ฉบับ และที่พรรคฝ่ายค้านได้เสนอแก้ไขเป็นรายมาตราอีก 4 ฉบับ รวมเป็น 6 ฉบับ มาพิจารณา ก็สามารถพิจารณาได้เลยทันทีที่มีการเปิดสมัยสามัญในต้นเดือน พ.ย. 2563

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมถึงประเด็นการยุบสภาว่า รัฐบาลได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบว่าสภามีความผิดอะไรถึงจะต้องยุบสภา เนื่องจากการยุบสภาจะต้องเกิดความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เกิดเรื่องดังกล่าว

ส่วนกรณีที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จะต้องคิดต่อไปว่าการพิจารณาเพื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาจากขั้นตอนใดอย่างไร ซึ่งต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มาจากรายชื่อที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่สมัยที่มีการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งหากสมาชิกวุฒิสภางดออกเสียงทั้งหมดดังที่มีผู้เรียกร้อง จะทำให้จำนวนการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ถึง 366 เสียง ซึ่งจะถือว่าคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ซึ่งจะทำให้เกิดทางตัน

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นในคนไทย แม้มุมมองการเมืองแตกต่าง ทุกคนยังคงรักชาติ รักษ์วัฒนธรรม รากเหง้า และคุณค่าของความเป็นไทยอยู่ พร้อมใช้เวทีการประชุมรัฐสภาร่วมเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ก่อนหน้านี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ)  รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หวังใช้เวทีการประชุมรัฐสภาร่วมหาทางออกร่วมกัน เชื่อทุกฝ่ายมีความรักบ้านเมืองและแก้ปัญหาให้ผ่านไปด้วยกัน 
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ว่า เสนอการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา  ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีข้อเท็จจริง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19  (COVID-19)  มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการที่ห้ามหรือควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักเดินทางต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนด้านธุรกิจ รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว การแข่งขันกีฬา หรือการใช้บริการสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังหามาตรการผ่อนปรน เพื่อให้มีผลทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย  นอกจากนี้ ยังมี สถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด  รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก  ในสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ และการเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ  
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 การชุมนุมมีการพักค้างคืน อาจยืดเยื้อ มีความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ 2558 และอาจมีผู้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกซึมทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 มาตรา 11 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  และประกาศไว้ตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นเวลา 30 วันจนถึง 23 พฤศจิกายน 2563   ซึ่งได้ยกเลิกแล้ว 
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ รวมถึงการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่  การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันนั้นว่า  หลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนการการดำเนินการอยู่แล้ว  ปัจจุบันศาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหลายราย แม้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่บางแห่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่ในการรักษาสิทธิของคนไทยทุกคนทั้งประเทศซึ่งมี 70 ล้านคน ยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาล พยายามที่จะดูแลสถานการณ์การชุมนุมอย่างอะลุ่มอล่วยและผ่อนผัน ยึดหลักการใช้กฎหมาย  
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าวันนี้คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองด้านการเมืองอย่างไร แบบไหน แต่เชื่อว่าทุกคนยังคงรักชาติ รักษ์วัฒนธรรม รากเหง้า และคุณค่าของความเป็นไทยอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องการอนาคตที่ดีสำหรับประชาชนและประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็ยังดำเนินการอยู่มาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ซึ่งเป็น 2 มิติ ทั้งรักในรากเหง้าความเป็นไทย และความต้องการอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานเยาวชนซึ่งเราต้องร่วมกันแก้เพื่อที่นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล มีความถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง  และไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของเรา เพื่อให้สังคมที่แข็งแรง และเป็นสังคมที่มีรากเหง้าอย่างล้ำลึกเข้าไปในหัวใจของคนไทยทุกคน ทั้งนี้สังคมที่ดีมีรากเหง้าที่ดีจะหยั่งรากลึก และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป