นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย(Salt Board)พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการเกษตร หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเกลือฯ.ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้แทนสถาบันเกลือทะเลไทย (Salt Academy) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายคทาวุธ บุญมา ประธานชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย จำกัด ผู้แทนสหกรณ์เกลือ ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หน่วยงานราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนชาวนาเกลือ ผ่านระบบกาารประชุมออนไลน์ (ZOOM Cloud Meeting)แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยในวันนี้ (22 เม.ย.64) ว่าการประชุมบอร์ดเกลือวันนี้ได้พิจารณาวาระสำคัญหลายวาระด้วยกันได้แก่
1.ความก้าวหน้าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล 2.สถิติการนำเข้าเกลือ 3.การสร้างมาตรฐานเกลือทะเล 4.เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สำหรับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ 5.งานวิจัยด้านเกลือทะเล 6.การขอขยายระยะเวลาชำระหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรของสหกรณ์นาเกลือ 7.การกระจายผลผลิตเกลือทะเล 8.การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นาเกลือ 9.การส่งเสริมการแปรรูปเกลือทะเล 10.การตรวจเยี่ยมเยือนหน่วยงานภาคีภายใต้คณะกรรมการฯ ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกลือทะเลค้างสต็อกจากฤดูกาลผลิต2562/2563 และการแก้ไขปัญหาราคาเกลือตกต่ำ 11.การขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าเกลือจากต่างประเทศ และ ร่างกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าเกลือ 12.แผนการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการด้านเกลือทะเล
“การยกระดับมาตรฐานเกลือทะเลมีความก้าวหน้าอย่างจากโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดทำ (ร่าง) คู่มือการปฏิบัติงาน Standard Operating Procedure (SOP) การตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP นาเกลือทะเล และเกลือทะเลธรรมชาติเสร็จสิ้นแล้ว และจัดอบรมให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทั้ง 7 จังหวัด จำนวน 262 คน โครงการนำร่องพัฒนาแปลงนาเกลือต้นแบบซึ่งได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบเป็นที่เรียบร้อย พร้อมจัดฝึกอบรมที่ปรึกษาเกษตรกร และผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานเกลือทะเล ครบทั้งระบบโดยคาดกรมวิชาการ กรมประมงและกรมปศุสัตว์จะออกประกาศกรมแล้วเสร็จในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมเปิดรับการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว”
ทั้งนี้ตามข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2564 มีเกษตรกรผู้ทำนาเกลือขึ้นทะเบียนในระบบจำนวน 650 ครัวเรือน 1,150 แปลง เนื้อที่ 25,707.88 ไร่
สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินช่วยเหลือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ในขณะที่งานวิจัยด้านเกลือโดยสถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์AICเพชรบุรีได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว2โครงการจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติพร้อมดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาลดสิ่งปนเปื้อนในเกลือและการลดความชื้นในเกลือเพื่อพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกลือ
ด้านการขอขยายระยะเวลาชำระหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรของสหกรณ์นาเหลือนั้นคณะอนุกรรมการกองทุนฯ. ได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และงดเว้นค่าปรับ โครงการสร้างระบบการผลิตและการตลาดเกลือทะเลของสถาบันเกษตรกร ด้วยวิธีการยกระดับราคาให้ยั่งยืนเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำรายละเอียดแผนการชำระเงินคืน งบกระแสเงินสด (cash flow) เพื่อเสนอให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรพิจารณาต่อไป
ที่ประชุมยังรับทราบรายงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)ซึ่งได้นำเสนอรายงานการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันตก (Thailand Riviera) เรียบชายฝั่งทะเลจากจังหวัดสมุทรสงครามถึงอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการพัฒนาพื้นที่นาเกลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามแผนโครงการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืนบนเส้นทางสายเกลือ(Salt Road)งบประมาณกว่า 615 ล้านบาทซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่ตามเส้นทางตั้งแต่ถนนพระราม2ที่คลองโคนผ่านบ้านแหลมท่ายางถึงชะอำระยะทาง100กิโลเมตรเป็นเส้นทางสาย”Salt Road”เช่นพิพิธภัณฑ์เกลือที่บ้านแหลม จุดชมวิวที่สะพานบางตะบูน จุดเช็คอินที่ปากทะเล บางแก้วและแหลมผักเบี้ยภายใต้คอนเซ็ปท์”เกลือเม็ดสุดท้าย ทรายเม็ดแรก”ยิ่งกว่านั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวและการโปรโมทโดยจะมีการประชุมร่วมกับที่อพท.และจะเชิญสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมในการพัฒนาแบบแปลนเชิงอัตลักษณ์ในเดือนหน้า”
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการส่งเสริมการแปรรูปเกลือทะเล ได้มีกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีในการผลิต แปรรูปสินค้า พร้อมทั้งหลักการคำนวณต้นทุนการผลิต กิจกรรมการทดสอบตลาดจำนวน 2 ครั้ง พร้อมทั้งสรุปผลการทดสอบตลาด และกิจกรรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับการแก้ปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำ และปัญหาผลผลิตเกลือทะเลค้างสต็อก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม มีปริมาณเกลือคงค้างฤดูการผลิต ปี 2562/63 ปริมาณ 212,608 ตัน และ ปี 2563/64 ปริมาณ 197,000 ตัน โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแผน ได้แก่
1) การกระจายและเชื่อมโยงสินค้าเกลือทะเลไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
2) การกระจายเกลือขาวและดอกเกลือเพื่อจำหน่ายในร้านธงฟ้า
3) เสนอให้จัดทำโครงการกระจายเกลือทะเลค้างสต็อก ผ่านทางคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.)ใช้งบประมาณของกองทุน แนวทางเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการ
สำหรับ ร่างกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติพิจารณา โดยให้รับความคิดเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาดำเนินการต่อไป
ทางด้านการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกลือทะเล กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการได้แก่ หลักสูตรการบริหารจัดการด้านการตลาด จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ (1.) การเริ่มต้นธุรกิจ (2.) การเงินบัญชี (3.) วิชาบัญชี (4.) การตลาด E-Commerce (5.) การพัฒนากลยุทธ์การตลาด E – Commerce (6.) การพัฒนาธุรกิจใน AEC (7.) การพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ สมัครได้ที่ http://dbdacademy.dbd.go.th/
2. หลักสูตรการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ (1.) หลักสูตรร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) (2.) หลักสูตรการพัฒนาหน้าร้านสู่โลกออนไลน์ (Digitize Storefront) ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ https://saphandigital.moc.go.th/ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2564
“นับเป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาเกลือทะเลทั้งระบบครบวงจรตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การผลิต การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์และการตลาดผสมผสานการค้าสินค้าและบริการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายใต้5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และโมเดล”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดซึ่งเป็นความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วนแบบบูรณาการใกล้ชิด” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร