รมว.ยุติธรรมเร่งประสาน “อนุทิน ชาญวีรกูล” ขอวัคซีนฉีดผู้ต้องขัง หลังพบในเรือนจำมีผู้ติดเชื้อนับหมื่นราย ปัดข่าวเด้งอธิบดีราชทัณฑ์ – ผบ.เรือนจำเชียงใหม่ เผยแค่คาดโทษ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการสั่งย้ายนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึง นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ ว่า ไม่เป็นความจริงตนไม่ได้สั่งย้ายใครใดๆทั้งสิ้นในขณะนี้ มีเพียงการคาดโทษไว้ และเร่งให้ทำงานแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 อย่างเร็วที่สุด โดยให้นโยบายเน้นการทำงานเชิงรุกกับกรมราชทัณฑ์ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำทุกแห่งปฏิบัติตาม และกำชับให้ อธิบดี รองอธิบดี และผู้บริหารทุกคนติดตามดำเนินการทั้งหมด เพราะวันนี้การป้องกันโควิด-19 หากหย่อนยานเราจะป้องกันไม่ได้ เราต้องเข้มแข็งรอจนกว่าจะได้ฉีดวัคซีนทั้งหมด ตนไม่ได้ปลด ไม่ได้เปลี่ยน แต่คาดโทษเท่านั้น ต้องเร่งให้ดำเนินการ ทั้งที่เชียงใหม่ รวมทั้งผู้บัญชาการเรือนจำทุกคน ซึ่งตนได้คุยกับ นายสุรศักดิ์ แล้ว แม้ว่าการควบคุมโรคใน จ.เชียงใหม่ ไม่ใช่หน้าที่ของเขาโดยตรง ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการ แต่เขาจะต้องรู้เรื่องในบ้านด้วย

เมื่อถามถึงการกำหนดเวลาการคาดโทษ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 28 พ.ค. เขามีการมอบพื้นที่คืนให้เรือนจำ ดังนั้นผู้บัญชาการต้องรู้แล้วว่าเชื้อโรคมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ให้คนเขาพูดว่าเราปกปิดข้อมูล ต้องนำข้อเท็จจริงออกมาแจง ซึ่งต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองแม่ทัพภาค รองเจ้ากรมการแพทย์ทหาร สาธารณสุขจังหวัด รวมถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ที่ทำข้อมูลออกมาได้ดี แต่ว่ามีปัญหานิดหน่อย ซึ่งข้อมูลตรงนี้ต้องทำให้ชัดเจนเพราะเป็นที่สนใจของสังคม หากชี้แจงได้ดีมีเหตุผลก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากชี้แจงไม่ได้ตรงนี้คงต้องมีบทลงโทษกันบ้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยอมรับว่าขณะนี้ เร่งประสาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอวัคซีนฉีดผู้ต้องขังทุกคน วันนี้โควิด-19 เข้าไปอยู่ในเรือนจำมากมาย ทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมตัวเลขแล้วผู้ต้องขังติดเชื้อ 10,384 คน ในขณะนี้ที่รวบรวมได้ เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ทำงานอย่างหนักและต้องทำต่อไป เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ อะไรที่หย่อนยานต้องเร่งปรับปรุง ตอนนี้มีมาตรการ 10 ข้อ คือ 1. ให้แถลงจำนวนผู้ต้องขังที่ได้ตรวจเชิงรุกไปแล้วมีจำนวนเท่าไร ๒. ตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทุกคน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ของกรมราชทัณฑ์ทุกคน จำนวน 55,000 คน

ในส่วนของที่มาของเชื้อให้เร่งสืบข้อเท็จจริงและสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้ และถ้าได้ความแน่ชัดจะแจ้งให้ทราบโดยไปิดปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น 4. การรักษาและการเฝ้าดูอาการคนไข้จะทำตลอดเวลาไม่มีวันหยุด ทุกคนจะต้องทำงานแข่งกับเวลา 5. ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาวิธีการรักษาที่เร็วและได้ผลดีที่สุด โดยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร เข้าช่วยรักษาในขณะที่รอดูอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในระดับสีเขียวที่ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ และคนระดับสีเหลืองที่กำลังเริ่มมีอาการ

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า 6. ผู้ต้องขังเป็นประชาชนคนไทย ที่ต้องอยู่ในเรือนจำไปไหนไม่ได้ ๑๐๐% การอยู่ในที่ถูกล้อมเอาไว้ ขยับขยายไปไหนไม่ได้เป็นอุปสรรคอย่างมหาศาลในการแก้ไข้ปัญหา ประกอบกับห้องนอนนั้นมีผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด 7. มีความจำเป็นที่ต้องเอาผู้ต้องขัง และผู้คุมที่ไม่ติดเชื้อในทุกเรือนจำ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน 8. จะมีการติดประกาศหน้าเรือนจำทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อกี่คนและไม่ติดเชื้อกี่คน หายแล้วกี่คน จะมีการแจ้งเช่นนี้เป็นระยะๆ อย่างน้อยที่สุดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และจะปรับตัวเลขทุกวัน เพื่อให้ประชาชนในแต่ละชุมชนได้รับทราบ 9. ผู้บัญชาการเรือนจำทุกคน จะทำรายชื่อผู้ติดเชื้อ และปรับปรุงเป็นรายวันเพื่อให้ญาติผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 08.00-18.00 น.

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า 10. กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จะรีบเร่งวางแผน เตรียมตัวรับการระบาดครั้งนี้ และครั้งหน้าที่จะมีมาได้ทุกเมื่อ โดยจะรีบเร่งประชุมพิจารณาในเรื่องของบุคลากรที่ต้องเพิ่ม เช่น พยาบาลที่ปัจจุบันขาดแคลนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนพื้นที่ในการรองรับ การดูแลรักษาผู้ต้องขัง เพราะโรคระบาดได้เข้ามาอยู่ในชีวิตสังคมคนไทยแล้วทั้งในวันนี้และอนาคต ซึ่งเป็นความท้าทายของกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์เป็นอย่างมาก เพราะคุณลักษณะของผู้ต้องขังที่ต้องติดเชื้อถูกจำกัด ในเรื่องของกฎหมายที่ให้ต้องจองจำ ประกอบจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่มากเกินกว่าที่สถานที่ปัจจุบัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลจะสามารถรองรับได้ ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณานโยบายการพักโทษในรูปแบบพิเศษ เช่น การติดกำไล EM ให้ละเอียดรอบคอบ โดยพิจารณาสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวะของผู้ต้องขัง เพื่อกำหนดนโยบายการพักโทษขึ้นมา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสังคมได้ประโยชน์ด้วยกัน ตลอดจนสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องขัง

“ถ้าเราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษา 10,000 คน หนึ่งคน 5,000 บาท จะใช้เงินถึง 50 ล้านบาท แต่หากใช้วัคซีนกับผู้ต้องขัง 300,000 คน คนละ 1,000 บาท จะใช้งบ 300 ล้านบาท จะหยุดเชื้อในเรือนจำได้ทั้งหมด ผมจะเสนอไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ดำเนินการให้เรียบร้อย ซึ่งหวังว่านายอนุทินจะเข้าใจและเร่งดำเนินการให้ ส่วนสถานการณ์ที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้บับเบิ้ล แอนด์ซีล ควบคุมในเรือนจำ โดยมีการร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด ในเรื่องตัวเลขต้องแจกแจงให้ชัด เราไม่ได้ปิดบังหรือปกปิด แต่หากไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้ต้องมีคนรับผิดชอบ เราจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้” รมว.ยุติธรรม กล่าว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขัง 15 เรือนจำติดเชื้อโควิด-19 โดยมี 8 เรือนจำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ มีการเช็คตัวเลขทุกวัน มียอดผู้ติดเชื้อเท่าไร รักษาหายเท่าไร จะมีการติดตามทุกวัน ส่วนเจ้าหน้าที่มีติดเชื้อ 33 ราย เหลือที่ยังไม่หาย 17 ราย และได้ประสานงานกับศาล ถึงทางศาลเข้าใจและอำนวยประโยชน์ทุกทาง ตนต้องขอขอบคุณทางท่านประธานศาลฎีกาด้วย