ครม. เห็นควรให้มีการเลือกตั้ง อบต. และให้ ธอส. สานต่อโครงการบ้านล้านหลัง ดีเดย์ศุกร์ที่ 10 ก.ย.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 กันยายน 2564 โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของ อปท. ได้แก่ อบต. กทม. และเมืองพัทยา ซึ่งทั้งกระทรวงมหาดไทยเตรียมพร้อมด้านงบประมาณ และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกระเบียบและประกาศ กกต. พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว


กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ขององค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยกำหนดรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ไว้ในข้อบัญญัติรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมสำหรับกรณีการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการออกระเบียบและประกาศ กกต. ดำเนินการสรรหา กกต. ประจำอปท. ครบทุก อปท. แล้ว พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว


นายธนกรฯ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นว่า หากมีความพร้อม ก็อาจพิจารณาสมควรให้มีการเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศ ภายในปีนี้ โดยได้มอบให้กกต. พิจารณากรอบระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับการเลือกตั้ง กทม. และเมืองพัทยา จะมีพิจารณา ในลำดับต่อไป
นายจ้าง/ลูกจ้าง ม. 33 เฮ! ครม. ขยายกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 17,912 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกันตน ม. 33 ใน 29 จังหวัด พร้อมอนุมัติ 16,103 ล้านบาท เยียวยานายจ้าง/ลูกจ้าง ม.33 ในพื้นที่ 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) เริ่มโอนกันยายน นี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้

  1. ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 รายและผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม นี้
  2. อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) แบ่งเป็น 1) ช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2) ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนกันยายน 2564 นี้
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว (เมื่อวันที่ 10 ส.ค.) จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.- ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท
    “ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย” นายธนกรฯ กล่าว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) สานต่อ “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2)” ภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท มุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่เริ่มต้นทำงานสร้างครอบครัว และผู้สูงอายุ ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก 1.99% ต่อปี ให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA ของ ธอส. เงินงวดคงที่งวดละ 5,000 บาท นานถึง 84 งวดแรก (กรณีกู้ 1.2 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 40 ปี) ฟรี!! ค่าธรรมเนียม 4 ประเภท 1.ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 2.ค่าประเมินราคาหลักประกัน 3.ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และ 4.ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง ลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL เพื่อรับรหัสเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (7 กันยายน 2564) มีมติเห็นชอบให้ ธอส. สานต่อ “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2)” ภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากที่คณะกรรมการธนาคาร นำโดย นายยุทธนา หยิมการุณ ประธานกรรมการธนาคาร มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ผู้ที่เริ่มต้นทำงานเพื่อสร้างครอบครัว และผู้สูงอายุ ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและผ่อนปรนเงื่อนไข 

สำหรับซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรกเท่ากับ 1.99% ต่อปี ปีที่ 5-7 เท่ากับ MRR -2% ต่อปี และปีที่ 8 ถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป เท่ากับ MRR -0.75% ต่อปี กรณีลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR -1% ต่อปี และกรณีกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ฯ เท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารอยู่ที่ 6.150% ต่อปี) ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี เงินงวดคงที่ 84 งวดแรก ( 7 ปี ) กรณีกู้ 1,200,000 บาท ผ่อนชำระงวดละ 5,000 บาท ในช่วง 84 งวดแรก ให้กู้เพื่อซื้อบ้าน หรือห้องชุด ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อปลูกสร้าง และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยพร้อมซื้อบ้านหรือห้องชุด พิเศษ!! ธอส. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการมีบ้านให้กับลูกค้าด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (0.1% ของวงเงินกู้) 2.ค่าประเมินราคาหลักประกัน (1,900-2,300 บาท) 3.ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (1,000 บาท ต่อราย) และ 4.ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง (1% ของวงเงินจำนอง)
 
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเอง ธอส. จึงได้ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพประจำหรืออาชีพอิสระ ธนาคารยังเปิดให้นำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือนมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และหากไม่สามารถแสดงหลักฐานที่มาของรายได้ให้ธนาคารพิจารณาได้ ให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Financial Literacy และออมอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าเงินงวดผ่อนชำระเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ต่อไป

สำหรับลูกค้าที่สนใจสามารถรับรหัสเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ได้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป เพียงดาวน์โหลด Mobile Application : GHB ALL และกดลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเข้าร่วมโครงการ เมื่อทำตามขั้นตอนครบถ้วนแล้วลูกค้าจะได้รับรหัส 9 ตัวทาง GHB Buddy บน Application Line (ตัวอักษร 3 ตัว และตัวเลข 6 ตัว)เพื่อนำมาแสดงในการยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เป็นต้นไป และทำนิติกรรมได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือ ก่อนเต็มกรอบวงเงินของโครงการ

นอกจากนี้ ธอส. ยังได้นำบ้านมือสองของธนาคาร หรือทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1,500 รายการ ที่มีราคาขายไม่เกิน 1,200,000 บาท ลดราคาสูงสุดถึง 50% จากราคาจำหน่ายปกติมาเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 จองซื้อก่อนได้สิทธิ์ก่อน พิเศษ!! ธอส. ลดภาระค่าใช้จ่ายให้อีก 3 ต่อสำหรับลูกค้าที่ซื้อทรัพย์ NPA ต่อที่ 1 เลือกใช้มาตรการผ่อนดาวน์ดอกเบี้ย 0% นานถึง 12 เดือน ก่อนยื่นกู้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยของโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ต่อที่ 2 ฟรี! ค่าประกันอัคคีภัย 3 ปีแรก สำหรับลูกค้า 150 รายแรก ที่ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 2 เดือน นับจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และต่อที่ 3 วางเงินประกันการซื้อทรัพย์เพียง 5,000 บาททุกรายการ ดูข้อมูลทรัพย์ NPA ที่เข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลังได้ที่ www.ghbhomecenter.com หรือ Mobile Application : G H Bank Smart NPA และ Line Official Account : @GHB NPA

ทั้งนี้ ธอส. ดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 ภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย (Post Finance) รวม 50,000 ล้านบาท ให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ปรับราคาซื้อขายและวงเงินกู้เป็นไม่เกิน 1,200,000 บาท    กรณีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรก 3.00% ต่อปี กรณีรายได้เกิน 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3.00% ต่อปี ล่าสุด ณ วันที่ 5 กันยายน 2564 มีลูกค้าได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 53,000 ราย วงเงินรวมกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) ของโครงการบ้านล้านหลัง ได้ทำให้มีที่อยู่อาศัยใหม่ในระดับราคาซื้อขายไม่เกิน 1,200,00 บาท ให้กับประชาชนได้เลือกซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 3,500 หน่วย โดยมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 9 โครงการ วงเงินสินเชื่อกว่า 946 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีก 3 โครงการ วงเงินสินเชื่อ 439 ล้านบาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

ครม.อนุมัติ 17,912 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกันตน ม. 33 ใน 29 จังหวัด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้

1. ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 รายและผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม นี้

2. อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) แบ่งเป็น 1) ช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2) ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว (เมื่อวันที่ 10 ส.ค.) จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.- ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย” นายธนกรฯ กล่าว

ครม. เห็นชอบจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงิน 4,254.36 ล้านบาท สำหรับจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม จำนวน 12 ล้านโดส เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม)

2. ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป

3. เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าที่เก็บขยะติดเชื้อเป็นต้น

4. ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

นายธนกรฯ กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตแล้วไม่ต้องทำการจัดซื้อล่วงหน้าเช่นเดียวกับวัคซีน ทำให้สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. และยังเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมและเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มวัยแรงงาน 8 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายในวงกว้าง การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีน Sinovac และ AZ จะสามารถร่นระยะเวลาการฉีดลงได้ และยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับสูงตามผลการวิจัย ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย/การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19  รวมทั้งลดผลกระทบ ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

ครม. เห็นชอบช่วยครูเอกชน

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 ก.ย. 2564 เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)โดยเพิ่มขึ้น 450 บาทต่อคนต่อปี จากอัตรา 8,582.50 บาทต่อคนต่อปี เป็น 9,032.50 บาท ต่อคนต่อปี เท่ากับการอุดหนุนนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.ปลาย) เพื่อประกันรายได้ครูโรงเรียนเอกชนให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนดคือเดือนละ 15,050 บาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการโดยสอศ. ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามที่เสนอตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 97,419,600 บาท

ครม.อนุมัติงบกลาง 2,909 ล้านความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 7 ก.ย. 2564 อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2564  เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3  จำนวน 1,766 โครงการ วงเงินรวม 2,909 ล้านบาท ดำเนินการ ใน10 จังหวัด ประกอบด้วย  จังหวัดแพร่  พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ อยุธยา ปราจีนบุรี และ สระแก้ว ใน 4 กลุ่มโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า, กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร, กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และ กลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน 

ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม –ธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 29,765 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 3.54 ล้านคน

 น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบในหลักการสำหรับโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 4  จำนวน 1,434 โครงการ  วงเงินรวม 3,753 ล้านบาท ดำเนินการใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เลย นครพนม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลพบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครนายก และยะลา ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอรับงบประมาณจาก ครม. ต่อไป 

ทั้งนี้ ครม. มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามข้อสั่งการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่เป็นโครการก่อสร้าง ปรับปรุงและซ่อมแซมถนนหรือเสริมผิวทางด้วยยางพารา ให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสม เหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินการเป็นรายเส้นทางอีกครั้ง เนื่องจากโครงการลักษณะดังกล่าวมีงบประมาณดำเนินการค่อนข้างสูง เพื่อให้การใช้จ่ายเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด

ครม.รับทราบภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของ กนง.

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 ก.ย. 2564 รับทราบภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) โดยที่ประชุมกนง.เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และ 23 มิถุนายน 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

โดยกนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการเดิม และคาดว่าในปี 2564 และ 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 และ 3.9 ตามลำดับ  

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ 1.ความยืดเยื้อของการระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  2. เม็ดเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจน้อยกว่าคาด

3.ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่จนต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และ 4. ปัญหาห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก (Supply Disruption) และต้นทุนค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด

ขณะที่กนง.เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอและทันการณ์และควรเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟูและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทุกภาคส่วนต้องเร่งผลักดันมาตรการต่างๆให้เห็นผลโดยเร็วเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนข้างหน้า