สวนดุสิตโพลชี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าถึงเวลาเลือกตั้งแล้ว เพื่อไทยน่าจะได้เสียงมากที่สุด รองลงมาคือ ก้าวไกล นายกฯที่อยากได้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” รองลงมา พล.อ.ประยุทธ์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ในสายตาประชาชน พบว่า ประชาชนมองว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่าง ๆ ณ วันนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในพรรคการเมือง คิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในต้นปี 2565 หากมีการเลือกตั้งใหม่จะทำให้ได้เปลี่ยนรัฐบาล ถ้ามีการเลือกตั้งคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล  นายกรัฐมนตรีที่อยากได้ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รองลงมาคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยภาพรวมประชาชนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเลือกตั้งใหม่

สรุปผลการสำรวจ : ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในสายตาประชาชนสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีความเคลื่อนไหวของพรรค การเมือง กลุ่มตัวอย่าง 1,186 คน ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าการเคลื่อนไหวของพรรค การเมืองต่าง ๆ ณ วันนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในพรรคการเมือง ร้อยละ 60.09 คิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.

ในต้นปี 2565 ร้อยละ 57.86 หากมีการเลือกตั้งใหม่ก็จะทำให้ได้เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 58.31 ถ้ามีการเลือกตั้งคิดว่าพรรค เพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด ร้อยละ 32.94 รองลงมาคือ ก้าวไกล ร้อยละ 25.21 นายกรัฐมนตรีที่อยากได้ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 28.67 รองลงมาคือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 21.27 โดยภาพรวมประชาชนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 70.29

การขยับตัวของพรรคการเมืองทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ในช่วงนี้ ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมตัวรับการเลือกตั้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นไวกว่ากำหนดเดิม ถึงแม้ประชาชนจะมองว่าการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกภายในพรรคและเป็นเพียงการสร้างกระแส แต่ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายประชาชนเองก็ลุ้นอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วกระแสของพรรคเพื่อไทยยังคงไปได้ด้วยดี แต่กระแสนายกฯจากการสำรวจครั้งนี้กลับเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่มีกระแสดี มากขึ้น ต้องมารอดูกันว่าถ้ามีการเลือกตั้งจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองได้จริงหรือไม่ เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และทุกความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองนั้นก็อยู่ในสายตาของประชาชนเสมอ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ช่วงนี้นักการเมืองลงพื้นที่บ่อย…จริงใจหรือไก่กา?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา  และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการที่มีข่าวนักการเมืองเกือบทุกพรรคลงพื้นที่บ่อยมากในช่วงนี้ เป็นความจริงใจเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน หรือเป็นเพราะกระแสการยุบสภากันแน่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข่าวนักการเมืองเกือบทุกพรรคลงพื้นที่บ่อยมากในช่วงนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.89 ระบุว่า ไปเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน และหาเสียงไปด้วย รองลงมา ร้อยละ 19.38 ระบุว่า ไปเพราะกระแสการยุบสภามากกว่า ร้อยละ 11.17 ระบุว่า ไปเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน จริง ๆ และร้อยละ 10.56 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ  

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงพื้นที่ของ ส.ส. ระบบแบ่งเขต เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.83 ระบุว่า ไม่เคยลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนเลย รองลงมา ร้อยละ 36.93 ระบุว่า ลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนไม่ค่อยบ่อย ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนค่อนข้างบ่อย ร้อยละ 7.45 ระบุว่า ลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนบ่อยมาก และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงพื้นที่ของ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.85 ระบุว่า ไม่เคยเห็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลงพื้นที่เลย รองลงมา ร้อยละ 29.26 ระบุว่า เห็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลงพื้นที่ไม่ค่อยบ่อย ร้อยละ 9.95 ระบุว่า เห็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลงพื้นที่ค่อนข้างบ่อย ร้อยละ 3.57 ระบุว่า เห็น ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อลงพื้นที่บ่อยมาก และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.74 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.68 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.31 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.53 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.86 เป็นเพศชาย ร้อยละ 50.99 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.15 เป็นเพศทางเลือก

ตัวอย่างร้อยละ 5.78 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 15.27 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.30 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.75 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 26.90อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.44 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.12 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.68 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.76 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 18.54 สถานภาพโสด ร้อยละ 77.13 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.34 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.99 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 31.61 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.73 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.61 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.41 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.50 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.14 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 8.51 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.08 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.27ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.40 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.37 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 22.65 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.58 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.14 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 21.43 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.66 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.78 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.65 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 3.95 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.56 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.97 ไม่ระบุรายได้