“อลงกรณ์”พอใจผลสำรวจล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคมีคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น ยืนยันปชป.จะมุ่งมั่นทำงานสร้างรายได้ให้ประชาชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์แสดงความเห็นวันนี้(27มีนาคม)หลังทราบผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2565โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ว่า พอใจผลการสำรวจความเห็นของประชาชนโดยนิด้าโพลที่ปรากฎผลการสำรวจออกมาว่าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคได้คะแนนนิยมและการสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในไตรมาสก่อนหน้านี้

โดยนายอลงกรณ์ยืนยันว่าปชป.ยุคอุดมการณ์-ทันสมัยทำได้ไวทำได้จริงจะมุ่งมั่นทุ่มเททำงานโดยเฉพาะงานเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประเทศชาติและประชาชนในช่วงภาวะวิกฤติจากผลงานการส่งออกสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า8ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมาด้วยอัตราการเติบโตกว่า17%สูงกว่าเป้าหมาย4เท่าตัวรวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกรกว่า7ล้านครัวเรือนที่ได้รับเงินโอนตรงเข้าบัญชีเกษตรกรกว่า3แสนล้านบาทในช่วง3ปีที่ผ่านมา

โดยการบริหารขับเคลื่อนของหัวหน้าพรรคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคและรัฐมนตรีเกษตรฯ.ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน3กลไกการทำงาน”พรรค-สภาฯ.-รัฐบาล”

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังวิเคราะห์ผลสำรวจของนิด้าโพล โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1.พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของพรรคที่เป็นรัฐบาลปัจจุบัน

2.หัวหน้าพรรคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้รับคะแนนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นลำดับที่สองรองจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในซีกของแกนนำรัฐบาลผสม

3.พรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้งพรรคและผู้นำพรรค

4.ผู้นำพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายค้านได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่าผู้นำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล

5. โพลชี้ชัดว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนและผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28.86 และร้อยละ27.62 ตามลำดับ แต่ผมมีข้อสังเกตว่าเปอร์เซ็นต์ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนบ่งชี้ว่าประชาขนเริ่มตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองและผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

6. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) มีคะแนนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และน.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมีคะแนนรองจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลและนายกรัฐมนตรี โดยเหตุผลสำคัญคือเป็นคนรุ่นใหม่และสังกัดพรรคที่ประชาชนนิยมในซีกพรรคฝ่ายค้าน

นายอลงกรณ์สรุปว่า ผลโพลเป็นเสมือนกระจกสะท้อนภาพให้เราทราบความคิดเห็นของประชาชนซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่าโดยภาพรวมประชาชนสนับสนุนฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันทำงานหนักมากขึ้นโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และปัญหาโควิด-19เพื่อสร้างผลงานการสนับสนุนจากประชาชนให้เพิ่มขึ้นในเวลาที่เหลืออยู่1ปีตามวาระอายุของรัฐบาลหากไม่มีการยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออกก่อนกำหนด.

ทั้งนี้ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2565” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-15 มีนาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,020 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 27.62 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 13.42 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา ชื่นชอบในวิธีการทำงาน มีวิสัยทัศน์และแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ อันดับ 3 ร้อยละ 12.67 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนซื่อสัตย์และสุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง อันดับ 4 ร้อยละ 12.53 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร

อันดับ 5 ร้อยละ 8.22 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ ชื่นชอบนโยบาย มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ อันดับ 6 ร้อยละ 7.03 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนชัดเจน เด็ดขาด ตรงไปตรงมา มีความมุ่งมั่นในการทำงาน อันดับ 7 ร้อยละ 3.96 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนเก่ง ตรงไปตรงมา และตั้งใจทำงาน อันดับ 8 ร้อยละ 3.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อันดับ 9 ร้อยละ 2.77 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) เพราะ เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ อันดับ 10 ร้อยละ 2.58 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ บริหารงานอย่างตรงไปตรงมา และตั้งใจทำงาน และร้อยละ 5.59 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์)

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 4/64 เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 28.86 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 2 ร้อยละ 25.89 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 16.24 ระบุว่า พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.97 ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 7.03 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 6 ร้อยละ 2.28 ระบุว่า พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.18 ระบุว่า พรรคไทยสร้างไทย อันดับ 8 ร้อยละ 2.03 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 9 ร้อยละ 1.88 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย อันดับ 10 ร้อยละ 1.83 ระบุว่า พรรคกล้า และร้อยละ 3.81 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยภักดี พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเศรษฐกิจไทย

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 4/64 เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย ไม่ตอบ/ไม่สนใจ พรรคภูมิใจไทย  และพรรคกล้า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.19 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.27 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.12 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.88 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 13.12 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.67 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.21 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.88 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.12 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.35 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.46 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.35 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 30.74 สถานภาพโสด ร้อยละ 65.45 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.46 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.35 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 26.73 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.95 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.33 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.60 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.80 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.59 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 9.16 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.95 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.59ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.88 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.30 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.34 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 5.99 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 23.56 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.33 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.93 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.86 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.25 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.60 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.47 ไม่ระบุรายได้

บทความที่เกี่ยวข้อง