รัฐนาวาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สถานการณ์โควิด-19 มาฟื้นศรัทธาประชาชน แต่ก็ต้องมาเสียความนิยมไปเพราะโควิด-19 จะฝ่ามรสุมโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจที่รออยู่คงต้องเปลี่ยนฝีพายครั้งใหญ่

“การ์ดอย่าตก” กลายเป็นวลีฮิตติดลมบนมาคู่กับการระบาดของโควิด-19 และทำให้นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นที่รู้จักของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ประชาชนให้ความร่วมมือรวมกันอดทนไม่ให้การ์ดตกจนทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด-19 ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก โดยเฉพาะบทบาทของ ศบค.

 

แต่การติดเชื้อโควิด-19 ของทหารอียิปต์แวะพักที่ระยอง เด็กอายุ 9 ขวบครอบครัวคณะทูตประเทศซูดานที่พักในคอนโดย่านสุขุมวิท คำว่า “ศบค.การ์ดตก”จึงดังและฮิตในโลกโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว

 

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่าเดือนตุลาคมนี้จะเกิดมหาวิกฤตเศรษฐกิจกับประเทศไทย จากการระบาดของโควิด-19 เพราะแม้ไทยจะควบคุมได้ดี แต่ทั่วโลกยังระบาดอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป

 

เห็นได้ชัดจากการแถลงประจำเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุชัดว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวสูงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ต่างประเทศ

  • ภาคการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวสูงจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
  • ภาคการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ
  • การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงขึ้น
  • การบริโภคภาคเอกชนหดตัว

 

มรสุมเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ตรงหน้าคือโจทย์ใหญ่ที่รัฐนาวาของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญ แต่กลับเกิดปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐพร้อมใจกันลาออกจนส่งผลให้ต้องมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ และอันเชิญพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค

 

ล่าสุดทีมเศรษฐกิจหรือเรียกว่า “ 4 กุมาร” ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน หรือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่ยืนยันจะทำหน้าที่รัฐมนตรีต่อไป

 

ขณะที่ท่าทีของนายกรัฐมนตรีก็เริ่มอ่อนลง จากที่เคยประกาศว่า การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ หลัง ๆ มานี้บอกว่า เรื่องโควตารัฐมนตรีก็ต้องมีการหารือกับพรรคการเมือง

ปัจจุบันมีตำแหน่งรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีถือโควตาแต่งตั้งคนอยู่ 9 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

  • รองนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ (ก่อนเข้าพรรค) นายวิษณุ เครืองาม นายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์
  • รัฐมนตรี 6 คน คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม
  • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน หรือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะมีการปรับครม.เมื่อไหร่ ปรับกี่ตำแหน่ง ทีมเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนใหม่ หรือใครจะเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเอกชนเริ่มส่งเสียงขอความชัดเจนเรื่องนี้โดยด่วน ขณะนี้ดูเหมือนจะมีสัญญาณเกียร์ออกมาจากภาคปฏิบัติแล้ว

 

เรื่องนี้ต้องเอาความจริงมาพูดกัน ผู้ปฏิบัติถ้าทำตามนายปัจจุบันอย่างเต็มที่ นายใหม่เข้ามาเขาก็ต้องเจอกับปัญหาหากแนวทางทำงานไม่เหมือนกัน ดังนั้น เกียร์ว่างจึงต้องเกิดขึ้น

 

 

ดังนั้นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้คงจะต้องเป็นการปรับใหญ่ และเร็วกว่าที่นายกรัฐมนตรีคิดไว้แล้ว

 

นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน 6 ผบ.เหล่าทัพ เพราะทุกคนเกษียณพร้อมกันในวันที่ 30 กันยายนนี้ ทั้งผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

สำหรับสถานการณ์รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนการระบาดของโควิด-19 ต้องเผชิญกับมรสุมมากมาย เริ่มจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ในช่วงเริ่มต้นเหมือนจะปะดาบแล้วเลือดสาด เพราะฝ่ายค้านได้ตีฆ้องร้องป่าวว่ามีหมัดเด็ดที่จะน็อกรัฐบาล

 

นอกจากชกไม่สมราคาแล้ว ยังมีเหตุการณ์ “ต้มกันเอง” ของฝ่ายค้าน โดยที่ยังไม่ทันจะได้อภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์แกนสำคัญของรัฐบาล ก็หมดเวลาเสียก่อน จนทำให้ อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ 4 คน

 

แต่ก็สามารถทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยมไปไม่น้อย โดยเฉพาะร.อ.มนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ที่ถูกโจมตีปัญหาคดีในประเทศออสเตรเลีย  ผสมโรงด้วยกระแสต้องการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน หรือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา

 

เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ หลายเรื่องที่หาเสียงไว้ไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องประกันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 20,000 บาท อาชีวะเงินเดือน 18,000 บาท ลดภาษีเงินได้ 10 %

 

แฟลชม็อบจุดติด หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่จากปมเงินกู้ 191 ล้านบาท โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแทบจะทั่วประเทศออกมาจัดแฟลชม็อบ และโจมตีการสืบทอดอำนาจของ คสช.และความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

 

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายคนมองย้อนถึงพลังนักศึกษาเหตุการณ์เดือนตุลาฯทั้งปี 1516 และ2518

 

แต่ทุกมรสุมและคลื่นลมที่ถล่มรัฐบาลก็ค่อยๆ จางหาย จากการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง จนรัฐบาลต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งห้ามออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินเปรียบเหมือนน้ำทิพย์ที่มาฟื้นศรัทธารัฐบาลจากประชาชน โดยเฉพาะคะแนนนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

สูงขึ้นอย่างมาก

 

การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินถือว่าเข้าทางถนัดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้วิธีคอมมานด์(COMMAND)แบบทหาร ทำให้สามารถสั่งการและตั้งคณะทำงาน มอบหมายงาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเมืองเหมือนผ่านรัฐมนตรีที่มาตามโควต้าพรรคการเมือง

 

แต่ก็มาตกม้าตายเมื่อพบทหารอียิปต์ติดเชื้อที่จ.ระยอง  และเด็ก 9 ขวบครอบครัวทูตประเทศซูดาน ที่กทม.