ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ลงนามความร่วมมือวิจัยทดสอบผงสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพรที่มีเห็ดกระถินพิมานเป็นองค์ประกอบ เพื่อยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ที่ศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท เนเจอร์ เฮิร์บ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท เฮิร์บ ฟอร์ ยู จำกัด จัดพิธีลงนามสัญญาดำเนินการวิจัย เรื่อง การวิจัยเพื่อทดสอบผงสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพร ที่มีเห็ดกระถินพิมานเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ และการหากลไกฆ่าเซลล์มะเร็งของผงสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพรที่มีเห็ดกระถินพิมานเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้สามารถยืนยันผลได้ทางวิทยาศาสตร์ และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา

รศ.ดร.ปฐมวดี ญาณทัศนีย์จิต ผู้รับผิดชอบโครงการ

รศ.ดร.สีหนาท ประสงค์สุข  หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยเห็ดกระถินพิมานและสารสกัดสมุนไพร ทั้งนี้คณะพฤกษศาสตร์เริ่มต้นทดสอบผลิตภัณฑ์สารสกัดจากเห็ดกระถินพิมานที่มีการแจกให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งได้รับประทานเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อใช้ในการบรรเทาอาการของโรค ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ป่วยเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดจากกระถินพิมานจากบริษัท มีอาการดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทางบริษัทมีความประสงค์ที่จะพิสูจน์ผลของสารสกัดให้สามารถยืนยันได้ทางวิทยาศาสตร์

ด้านนางนันทวรรณชยา ภาจิตประพันธ์  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์ เฮิร์บ อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาดำเนินการวิจัยและทดสอบด้วยเครื่องมือที่เป็นวิทยาศาสตร์ และขอขอบคุณคณาจารย์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ ไปสู่กระบวนการทดสอบ วิจัย  ตามหลักวิชาการสากล และนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เห็นถึงคุณค่า และคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การดำเนินการวิจัย เรื่อง การวิจัยเพื่อทดสอบผงสมุนไพรและสารสกัดสมุนไพร ที่มีเห็ดกระถินพิมานเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง จะใช้ระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ได้ผลการการศึกษาทางวิชาการ นำมาเผยแพร่สู่สังคมต่อไป