จังหวัดบุรีรัมย์ประกาศผู้เดินทางเข้าจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่ควบคุมสูงสุดต้องกักตัว 14 วัน

นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ทันต่อลักษณะการแพร่ระบาดในพื้นที่ปัจจุบัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ มีข้อห่วงใยหากไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งพอ ก็ไม่สามารถดักจับ ควบคุม หรือคัดกรอง จึงได้เห็นชอบให้ออกประกาศมาตรการป้องกันสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกำหนดพื้นที่ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค) ประกาศกำหนดคือ

นายพิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) คือ จังหวัด นนทบุรีปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ควบคุมสูงสุด(สีแดง) คือ จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาครสระบุรี ยะลา และนราธิวาส

หากประสงค์จะเข้ามาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องกักตัวในสถานที่ ที่รัฐจัดให้ หรือ Local Quarantine ไม่น้อยกว่า 14 วัน หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในท้องที่ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุม(สีส้ม)ให้รายงานตัวและรับการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ พื้นที่กักกันโรคระดับจังหวัด/อำเภอ (Local Quarantine) / ในท้องที่ที่อำเภอกำหนด

หากประเมินแล้วกรณีมีความเสี่ยง ต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อ COVID-19 แบบ Rapid test หรือ R-T PCR หากผลเป็นบวก (ติดเชื้อ COVID-19) ให้เข้าสู่ระบบการรักษาหากผลการตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ COVID-19) ให้กักตัวและสังเกตอาการตนเองที่บ้าน (HomeQuarantine) จนครบ 14 วัน และใช้ชีวิตตามแนวทาง DMHTT อย่างเคร่งครัด

หากประเมินแล้วกรณีไม่มีความเสี่ยง ให้กักตัวและสังเกตอาการตนเองที่บ้าน (Home Quarantine)จนครบ 14 วัน และใช้ชีวิตตามแนวทาง DMHTT อย่างเคร่งครัดและผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) จำนวน 53 จังหวัด จะต้องเข้ารายงานตัว และให้เฝ้าสังเกตการณ์อาการตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน ทั้งนี้หากพบอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลในท้องที่ทันที