เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ โครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสรรค์ จัดการเสวนาออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM ของกองบรรณาธิการร่วม โครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ Share มุมข่าวเล่าเบื้องลึกจากคนทำสื่อ “ ถึงประเด็นข่าวบิดเบือนความเชื่อทางศาสนา ขยายความขัดแย้งใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ และข่าวบิดเบือนในการลงทุนขยายพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายโกศล สงเนียม รักษาการประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค ที่ปรึกษาคณะทำงานคณะตรวจสอบข่าวปลอมประเทศไทย ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ นายบรรจง นะแส สมาคมรักทะเลไทย นายมะรูฟ เจะบือราเฮง ประธานเครือข่ายผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงชายแดนใต้ Deep South COFACT นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ สื่อท้องถิ่นอีสานบิซและเครือข่ายประชาสังคมภาคอีสาน ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการ ประกอบด้วย ผศ.ดร. บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดีคณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์นักวิชาการอิสระด้านนิเทศศาสตร์ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพข่าว นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอิสระผู้จัดรายการวิทยุ FM ๙๖.๕ อสมท. นายอิทธิพันธ์ บัวทอง สื่อมวลชนอิสระ อดีตบรรณาธิการบริหารข่าว TNN TV / กรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายภัทราวุธ บุญประเสริฐ แอดมินแฟนเพจเลยไทม์ออนไลน์ นางสาววริษฐา ภักดี บก.ลานนาโพสต์ออนไลน์ นายเอกรัตน์ บรรเลง ผู้สื่อข่าวอาวุโส Manager Online นายวันชัย พุทธทอง สื่อมวลชนอิสระ
โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ได้กล่าวถึงโครงการเครือข่ายตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย ต้องทำภารกิจควบคู่ไปกับเรื่องอื่นด้วย คือเรื่องการส่งเสริมรู้เท่าทันสื่อ ใช้ลักษณะการค้ำยัน ใช้สติปะทะในการที่จะรับมือกับเฟคนิวส์ เครื่องมือลำดับแรกที่เป็นเครื่องมือในการเปิดรับข่าวสาร เป็นวิธีการคิด วิเคราะห์ ซึ่งตัวความรู้อาจจะไม่ใช่ความจริง ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นความขัดแย้งทางสังคมด้วย ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวอยู่บนพื้นฐาน ความปรารถนาต่อบ้านเมือง และ ความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในข้อเท็จจริงหรือความเชื่อที่ตนเองยึดถือ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะย้ำในการถอดบทเรียนวันนี้ ซึ่งในทุกวันนี้ว่า สื่อ กับ สื่อมวลชน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ซึ่งเครือข่ายที่ตรวจสอบข่าวจริง ข่าวปลอม จำเป็นต้องมีการแยกแยะระหว่าง สื่อ กับ สื่อมวลชน เพราะสื่อใครๆ ก็เป็นได้ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ถ้าเป็นสื่อมวลชนจะต้องมีจรรยาบรรณควบคู่ไปด้วย เรื่องวิธีคิด วิธีวิเคราะห์ ต่างคนต่างมีมุมมองที่ต่างกันด้วยประสบการณ์ ความรู้ แต่สิ่งที่พบคือการด่วนตัดสินว่าถูกหรือผิด เครือข่ายต้องเฝ้าเตือนสติการรับรู้ข่าวสารของประชาชน นอกจากนี้ความหลากหลายของข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับเพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการศึกษาวิเคราะห์ แยกแยะ และหาข้อมูลเพิ่มเติม และสิ่งที่สำคัญคือการตั้งสติตัวเราเอง ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างของบุคคลอื่น
นายโกศล สงเนียม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเสวนาในวันนี้ เพื่อให้กระบวนการสื่อสารไปสู่ภาคส่วนต่างๆ โดยใช้วิธีการนำเคสกรณีศึกษา หรือประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งส่วนกลางได้รับข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน มีการรับข่าวสารหลายช่องทางทำให้สับสน ไม่มีความเชื่อมั่นในหลายๆ มุม ทั้งมิติของนโยบายภาครัฐ และมิติในการทำงานของชาวบ้าน ของคนในชุมชนที่มีข้อมูลอีกชุด ซึ่งเวลานี้พูดคุยในวันนี้หามุมมองในการช่วยกันหาข้อสรุปถึง ประเด็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือน มีกระบวนการจัดตั้ง อาจเป็นคำตอบที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ให้สังคมรับทราบได้
นายมะรูฟ เจะบือราเฮง กล่าวถึงข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาอันนำไปสู่ความขยายความขัดแย้งในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เช่นกรณีตัวอย่าง มีชายวัย ๕๗ ปี เดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน และเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปสุไหงโกลก ซึ่งได้มีการเสนอข่าวว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ และพบคลิปไอใส่ผู้อื่น กลายเป็นคลิปที่มีการแชร์ผ่านโชเชียลจำนวนมาก จากการตรวจสอบพบผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว ซึ่งข่าวที่นำเสนอไปก่อนหน้านั้น ทำให้เสื่อมเสีย และศาสนาอิสลามด้วย อีกตัวอย่าง เป็นกรณีของ ผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะเสียชีวิต ซึ่งผลการ Swab รอบแรก ไม่ติดเชื้อโควิด-๑๙ ทางโรงพยาบาลได้ร่างผู้เสียชีวิตกลับมายังโรงเรียนตามปกติ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจ Swab ตรวจเชื้อโควิด-๑๙ อีกครั้งผลออกมาผู้เสียชีวิตติดเชื้อโควิด-๑๙ ทำให้มีกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงนับร้อยคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กนักเรียนโดยส่วนใหญ่ แต่ข่าวที่นำเสนอในแง่ของการไม่ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโควิด-๑๙ ไม่มีการห่อหุ้มร่างกายผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สังคมในพื้นที่ก็ได้แง่มุมเรื่องราวดีๆ กลุ่มเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กได้มีการทำ Community Isolation จัดการตัวเอง เป็นอย่างดี แต่เรื่องดีๆ แบบนี้ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาจากสื่อ
ส่วนกรณีความเข้าใจผิดในพื้นที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น การเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักศาสนาที่แท้จริงว่า ในศาสนาอิสลามเชื่อว่า เชื่อว่า การเกิด การอยู่ สุขภาพดี การเสียชีวิต เป็นสิ่งที่พระเจ้ากำหนด จนทำให้ชาวบ้านไม่มีการป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีสมคบคิด ให้ชาวบ้านเชื่อว่าโควิดไม่มีอยู่จริง เป็นแผนการที่จะลดประชากร วัคซีนทำมาจากไขมันหมูทำให้พี่น้องมุสลิมไม่ฉีดวัคซีน หรือการสร้างข่าว ว่า อสม. เป็นสายลับของรัฐ ใช้โอกาสสถานการณ์โควิดเพื่อปิดมัสยิด ทำให้เกิดความสับสน
ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด ได้แสดงความคิดเห็นว่า ข่าวบิดเบือนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความไม่ไว้วางใจ หรือ อคติมาจากสื่อสังคมสื่อออนไลน์ จาก Hate speech ที่เกิดขึ้นอย่างกรณีชายวัย ๕๗ ปี เดินทางกลับประเทศปากีสถาน ซึ่งภายหลังพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-๑๙ แต่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ และเนื้อหาข่าวถูกบรรทุกไว้ในระบบ เปิดมาเมื่อไหร่ก็เจอ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ มีการสร้างบาดแผลให้แต่ละฝ่าย ทำให้เกินการโต้กันไปมา ผลกระทบจากสังคมที่มีต่อพี่น้องถือว่าร้ายแรงไม่น้อย
และกรณีที่สอง ผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะ เสียชีวิต และมีคนห้อมล้อม เนื่องจากยังไม่ทราบว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ ซึ่งสังคมตั้งคำถามตามมา ว่าในเมื่อรัฐห้ามรวมกันเกินห้าคน และต้องใส่แมสก์ ทำไมผู้นำศาสนาไม่ปฏิบัติตาม ทั้งนี้พี่น้องในสังคมมุสลิมเองก็รับรู้ข่าวสาร ซึ่งในเรื่องนี้ผู้นำศาสนาทุกคนช่วยกันนำแนวปฏิบัติมาเผยแพร่ก็น่าจะดีขึ้น และมองว่าสิ่งที่สังคมจะต้องรับรู้คือความจริงทางวิชาการ เพื่อจะได้เห็นภาพกว้างของข่าว และข้อมูลที่สื่อนำเสนอจะได้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี กล่าวว่า มีหลายแง่มุมที่ต้องพิจารณาและระมัดระวังในส่วนของการทำความเข้าใจใน อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ศาสนา วิถีชีวิต ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ที่แตกต่างทีมีผลต่อจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งความเข้าใจของคนโดยทั่วไปที่มองต่อปัญหาภาคใต้ คือไม่เข้าใจลักษณะที่อัตลักษณ์พิเศษพื้นที่ของพี่น้องชาวมุสลิม
การยอมรับที่มีต่อกันในสังคมโดยทั่วไประหว่างคนพุทธกับมุสลิมก็มีระดับหนึ่ง แต่ยังมีความแตกต่าง ความห่างเหินยังมีอยู่ แต่การอยู่ร่วมกันอันยาวนาน ทำให้สังคมยอมรับได้ แต่เมื่อหลักศาสนามาผสมกับอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปเรื่องในแง่ของชาติพันธุ์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ
การทำความเข้าใจของคนในสังคมไทยต่อประเด็นปัญหาภาคใต้ มองว่ามีอยู่สองมิติ คือเรื่องของหลักศาสนา อีกส่วนหนึ่งเรื่องของวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ประเพณี วิถีชีวิตเฉพาะ ซึ่งทำให้ยุ่งยากที่จะเข้าใจ สื่อเองไม่ว่าจะส่วนกลาง หรือ ท้องถิ่น ก็ต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ การนำเสนอต้องควบคู่ไปกับการทำให้เห็นภาพลักษณะพิเศษของพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน
นายมูฮำมัดอายุป ปาทาน ได้แสดงความเห็นว่าการนำเสนอข่าวต่างๆ ของสื่อ จากนักข่าวในพื้นที่ กอง บก. ต้องช่วยตรวจสอบ และนักข่าวท้องถิ่นกับส่วนกลางต้องทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน ซึ่งบางครั้งผู้นำเสนอข่าวสารขาดความเข้าใจประเพณีวัฒนธรรม อย่างการใช้คำ เช่น คำว่า “แกะศพ” แต่ข้อเท็จจริงเป็นการอาบน้ำศพ ซึ่งคำดังกล่าวทำให้การสื่อสารผิดพลาด โดยเฉพาะในโซเชียลที่ข้อมูลถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ส่วนเรื่องความเร็วก็เป็นปัญหาถ้าขาดความความรอบด้าน ซึ่งจากกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะ เสียชีวิต เมื่อเด็กๆ รู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็เกิดการจัดการภายในกันเอง เป็นสิ่งที่ดีเป็น มุมมองที่ดี มุมด้านบวกในท่ามกลางวิกฤต แม้อย่างกรณีหมอมุสลิมจากทุกโรงพยาบาลพยายามออกมาให้ความรู้ถึงวิธิปฏิบัติ หรือ หลักศาสนา แต่ไม่มีการหยิบยกถูกนำเสนอ สื่อส่วนกลางก็สำคัญถ้ามีความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะอธิบายเรื่องเหล่านี้สู่สาธารณชนได้
พร้อมกล่าวย้ำว่ากองบรรณาธิการต้องช่วยตรวจสอบ ยิ่งประเด็นทางศาสนา ต้องมี footnote ในการอธิบายเพิ่มเติม อธิบายถึงสภาพแวดล้อม หลักศาสนาเฉพาะ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และบิดเบือน ทั้งนี้ส่วนกลางเอง อาจจะให้พื้นที่ข่าวท้องถิ่น หรือพื้นที่ข่าว น้อยเกินไป มุมมองของคนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ถูกนำเสนอ คนจะติดกับภาพแรกที่นำเสนอทำให้เข้าใจว่าภาพแรกคือเรื่องจริง กอง บก. ยังเป็นหัวใจสำคัญในการเติมเต็มในประเด็นของข่าว ถ้าจะลดข่าวเฟคนิวส์ ก็ต้องเสนอสภาพแวดล้อมของข่าวที่เกี่ยวกับข่าวเฟคนิวส์ไปในขณะเดียวกัน เพื่อลดข่าวเฟคนิวส์ให้ด้อยคุณค่าไปด้วย
นอกจากนี้ นายมูฮำมัดอายุป กล่าวว่าสื่อต้องเสนอข่าวรอบด้าน ต้องถูกต้องทั้งยุทธวิธี และยุทธศาสตร์ ในกรณีข่าวที่เป็นความขัดแย้งต้องถ่วงดุลข้อมูลทั้งสองด้าน สร้าง Balance ของข้อมูล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสื่อและเป็นกลางของพื้นที่สื่อ ทั้งนี้เฟคนิวส์อาจจะเกิดจากสื่อเองที่เสนอข่าวด้านเดียว
นายวันชัย พุทธทอง กล่าวแสดงความคิดเห็นว่าประเด็นข่าวบิดเบือน มองอีกมุมคือการโต้กลับของประชาชน ข่าวหลายข่าวในบางประเด็นอาจไม่จริงทั้งหมดแต่กลับได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการตอบโต้ของประชาชน เป็นพลังของประชาชนที่เอาคืนรัฐ เพราะที่ผ่านมาประชาชน
ส่วนหนึ่งก็มองข่าวปลอมก็ถูกผลิตจากรัฐ นักวิชาการ หรือแม้จากสื่อมวลชนกระแสหลักเองที่เสนอข่าวบางที่บิดเบือนข้อเท็จจริงของชุมชน บิดเบือนชีวิตประชาชน เช่น โครงการพัฒนาขนาดใหญ่โรงไฟฟ้ากระบี่ หน่วยงานรัฐให้ข้อมูลเท็จทางสังคมว่าจะเป็นการสร้างงานให้คนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ทั้งที่จากข้อเท็จจริงคนในพื้นที่อันดามันรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว แต่กลับสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดขายเรื่องการท่องเที่ยวของ จ.กระบี่
เมื่อสื่อท้องถิ่นมีการนำเสนอข่าวที่แตกต่างจากข้อมูลที่ภาครัฐ นักวิชาการ ให้ข้อมูล กลับกลายเป็นสิ่งที่สื่อท้องถิ่นเสนอเป็นข้อมูลที่ผิด ทั้งนี้มองว่าการตอบโต้ข้อมูลโดยของประชาชนเป็นความพยายามของประชาชนในการที่จะรักษาทรัพยากร รักษาชุมชนการใช้โซเชียลอย่างทรงพลัง เป็นการโต้กลับของประชาชน เป็นเครื่องมือของประชาชนในสั่งสอนอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ข่าวเฟคนิวส์ไม่ใช่แค่ข่าวไม่จริง แต่เป็นการแย่งชิงพื้นที่ข่าวการสื่อสารของรัฐและประชาชน เปรียบเสมือนการโต้ตอบลดทอนอำนาจความน่าเชื่อถือของแต่ละฝ่าย สื่อหลักเองอาจจะนำเสนอข่าวโดยขยายความจากข้อมูลของรัฐ สื่อหลักเสนอข่าวที่ภาครัฐให้ข้อมูลมา ทั้งนี้ควรจะมีพื้นที่ให้กับชุมชนในการแสดงความคิดเห็นด้วย
นางสาวติชิลา พุทธสาระพันธ์ กล่าวว่าในสถานการณ์โควิด ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เกิดข่าวเฟคนิวส์ มองว่ามาจากตัวนักข่าวอาจไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อหาข่าว นักข่าวอาจนำข่าวมาจากออนไลน์ ซึ่งยังไม่ผ่านการกรอง แต่มาจากความรู้สึก มาจากจินตนาการ อย่างตัวอย่างของกรณีกรณีชายเดินทางกลับประเทศปากีสถาน ที่เผยแพร่อยู่บนออนไลน์ ซึ่งเช็กกลับไปกับยังพื้นที่ จนกระทั่งลูกสาวของผู้เสียชีวิตออกเรียกร้องสิทธิว่าพ่อไม่ได้ติดโควิดเสียชีวิต ปัจจุบันคนชอบเสพข่าวดราม่า บวกกับนักข่าวบางส่วนก็ทำข่าวง่าย เมื่อตัวนักข่าวไม่ได้ลงพื้นที่ข่าวที่ได้มาก็จะได้แค่ทางเดียว อย่างข่าวสถานการณ์โควิดจากพื้นที่ภาคใต้ ถูกส่งให้ส่วนกลางจะมีลักษณะเหมือนกันทุกสำนัก เพราะมาจากสตริงเกอร์คนเดียวกัน ถ้าเกิดผิดพลาด ความผิดก็จะเหมือนกัน อีกสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาด นอกจากตัวนักข่าวที่ไม่ได้เข้าพื้นที่แล้ว ข้อมูลจากภาครัฐเองมีความคลุมเครือ อย่างกรณีประเด็นผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะ เสียชีวิต สื่อได้เสนอข่าวโดยการอ้างอิงจากประกาศของ สสจ. แต่ปรากฏว่าภาพดังกล่าวที่แชร์ ออกมาหลังประกาศ คนเสพข่าวเองก็นำมาผสมปนเป ทำให้สังคมเข้าใจไปแบบนั้น ภาครัฐต้องออกมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ต้องขับเคลื่อนกลไกนี้ นางสาวติชิลา ยังมองถึงข้อดีของข่าวในออนไลน์ อย่างเช่นมีคอมเมนต์ในสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งทำให้รู้ว่าสิ่งที่นำเสนอมีความคลาดเคลื่อน สื่อหลักต้องยอมรับคำตำหนิ และแก้ไขในทันที ทั้งนี้สื่อที่หยิบยกประเด็นจากออนไลน์ จะต้องมีการตรวจสอบก่อนนำเสนอ
นอกจากนี้ นางสาวติชิลา กล่าวถึงแผนพัฒนาภาคใต้ ในส่วนของไทยพีบีเอสมีการทำงานกับเครือข่ายค่อนข้างเยอะ ทำให้มีชุดข้อมูลอีกชุดหนึ่ง นอกเหนือจากชุดข้อมูลของรัฐ และการส่งนักข่าวลงพื้นที่จะต้องเป็นบุคคลที่เคยตามประเด็นนั้น เนื่องจากเข้าใจคน และบริบทของข่าว ซึ่งการเสนอข่าวจะเสนอทั้งสองด้านทั้งข้อมูลของรัฐ และ ข้อมูลที่ขัดแย้งต้องนำเสนอควบคู่กัน และข่าวทุกข่าวที่ได้รับจากสติงเกอร์ต้องผ่านการรีไรท์ที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและยังตรวจสอบจากแหล่งข่าวด้วย
นายบรรจง นะแส ได้แสดงความเห็นว่า ในประเด็นเรื่องศาสนา สะท้อนให้เห็นว่าสังคมอ่อนแอเรื่องการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระบบการศึกษาล้มเหลว โดยการตีความหลักศาสนามีอยู่หลายระดับทั้งพุทธและมุสลิมที่อยู่ในสังคมปัจจุบัน กรณีโควิด-๑๙ ของผู้อำนวยการโรงเรียนปอเนาะเสียชีวิต การตีความแตกต่างกัน ถ้าสามารถคลี่คลายปัญหานี้ได้ เรื่องสันติสุขในสามจังหวัดภาคใต้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่คลี่คลายก็จะทำให้เป็นปัญหาไปเรื่อยๆ
ประเด็นของศาสนาทำให้ได้เรียนรู้ว่าจุดอ่อนของสื่อที่เผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณชน คนที่รับสารเองก็ขาดการเรียนรู้ของหลักศาสนานั้น จะกลับกลายเป็นการตีความตามความรู้สึกของตนเอง
นายบรรจง ยังกล่าวถึงการลงทุนขยายพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของภาคใต้ว่าเป็นกระบวนการที่ทุนผนึกกับรัฐและสื่อที่เข้ามาเป็นเครื่องมือรับใช้ความเชื่อ รับใช้ทิศทางการพัฒนา กรอบแนวคิดนี้ก็เป็นประโยชน์กับบางกลุ่มหนึ่งซึ่งกลุ่มน้อย แต่ผลกระทบกับคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นบทเรียนของสังคมไทยที่ชุมชนตระหนักและเรียนรู้ประชาชนเองมีสิทธิตอบโต้ ตรวจสอบ
ผศ.ดร. บุปผา บุญสมสุข กล่าวว่าในแง่ของมุมมองนิเทศศาสตร์ คำว่าเฟคนิวส์ กับจริยธรรม ซึ่งเฟคนิวส์เป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง หรือ ข่าวปลอม ซึ่งไม่มีจริยธรรมในการเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ปัจจุบันนี้มีเฟคนิวส์เยอะมาก การนำเสนอข้อมูลไม่มีจริยธรรมในการควบคุม กรณีที่เป็นประเด็นภาคใต้ไม่ใช่เฟคนิวส์ เป็นข้อเท็จจริง แต่มีการนำเสนอด้วยวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นเรื่องของจริยธรรมที่ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ เพราะเป็นการเสนอที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึกของคน โดยข้อเท็จจริงต้องนำเสนอภายใต้ความระมัดระวัง ต้องมีสติ พิจารณาไตร่ตรอง สื่อท้องถิ่นน่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในแง่ของการหยุดเฟคนิวส์ นำเสนอข้อเท็จจริงให้คนในสังคมได้รับรู้ ถือว่าเป็นบทบาทใหม่ของสื่อท้องถิ่น ต้องยกระดับสื่อท้องถิ่น คนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เพราะบุคคลที่มีความสำคัญช่วยตรวจจับเฟคนิวส์ ในแง่ความน่าเชื่อถือในการให้ข้อมูล รวมทั้งบุคคลเหล่านี้มีความเข้าใจในเรื่องของวัฒนธรรมของท้องถิ่น และสื่อส่วนกลางเองต้องยอมรับฟังข้อเท็จจริง นอกจากนี้ต้องให้ความรู้กับผู้รับสารมาตรวจจับด้วย ให้มีทักษะในการช่วยตรวจจับเฟคนิวส์ไปพร้อมๆ กับสื่อหลัก
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ มองว่าภาควิชาการมีส่วนสำคัญเป็นอันมาก ในส่วนของสภาวิชาชีพฯ เอง เป้าประสงค์นำชุดองค์ความรู้สู่สังคม สิ่งที่สำคัญคือการสร้างกองบรรณาธิการที่เข้มแข็ง กลไกจึงเป็นปัญหาในการหยิบยกข้อมูลข่าวสารมาจากโซเชียลมีเดีย ไม่มีกลไกช่องทางในการเช็กข่าวสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่มี footnote ไม่มีการเปิดโอกาสพื้นที่ข่าว ซึ่ง ณ ขณะนี้อยู่ในภาวะจำยอมแต่ต้องไม่จำนนต่อภาวะนิเวศจำยอมของระบบนิเวศของสื่อ ต้องปรับกระบวนทัศน์ในการสร้างสมดุลสภาวะข่าวสารหรือระบบนิเวศของสื่อที่ควรจะเป็น รวมถึงการ Balance ของข้อมูลข่าวสาร และการ Balance ข่าวสารด้านลบและด้านบวกไปพร้อมๆกัน
นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากการพัฒนาภาคใต้ เป็นการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ซึ่งบางอย่างของการพัฒนาไม่ตอบสนองประชาชน ไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่นั้นๆ สาเหตุหลักเพราะประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนา จนนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เรื่องปรากฏการณ์ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่แนวคิดการพัฒนาเห็นต่างกัน กระบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ต้องการปกป้องทรัพยากร ดังนั้นสมัชชาปฏิรูปประเทศคณะกรรมการปฏิรูปมองว่าประเทศวิกฤตเพราะการพัฒนาดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ทางออกคือการสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนบทบาทสื่อในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สื่อโดยไม่มีช่องว่าง เป็นพื้นที่อิสระกว้างขวาง อาจมีอำนาจกว่าสื่อกระแสหลัก การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดวิกฤตกับวงการสื่อ นำไปสู่วิกฤตจริยธรรมและวิกฤตความเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของสื่อดิจิทัลเป็นโอกาสของประชาชนแต่เกิดผลกระทบที่เรียกว่าเฟคนิวส์ได้เช่นกัน
นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค กล่าวว่าเวทีการระดมความคิดเห็นในวันนี้ ได้เปิดความสว่าง เปิดปัญญาได้ดีทีเดียว ซึ่งการทำงานของคณะตรวจสอบข่าวปลอมฯ ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะมุ่งตรวจจับการข่าวปลอม แต่ต้องการที่จะชี้ให้เห็น ตั้งข้อสังเกตลักษณะใดมีความน่าสงสัยว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ปัจจัยความสำเร็จของการสื่อสารของพื้นที่ คือ ๑.เนื้อหาสื่อสารต้องถูกต้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเป็นต้นทางของข่าวต้องปล่อยสารตั้งต้นที่สะอาด ถูกต้อง ๒.ความถี่ในการสื่อสารต้องมีความเหมาะสม มีการเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงซ้ำ ๓.ความรวดเร็วทันสถานการณ์ของการสื่อสารภายใต้องค์ประกอบเนื้อหาที่ถูกต้องและความถี่ในการสื่อสาร
ทั้งนี้ทั้งในประเด็นของความขัดแย้ง การตีความข่าวที่บิดเบือนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของศาสนาของชาติพันธุ์ ณ วันนี้ยังไม่เห็นบทบาทของนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่เข้ามาช่วยในงานสื่อสารข้อมูลในพื้นที่ที่มีความเปราะบางอย่างชายแดนภาคใต้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร