กรมชลประทานเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงโขง รอรับน้ำเหนือ  สามารถซ่อมทำนบดินไซด์งานก่อสร้างอาคารระบายน้ำอ่างฯลำเชียงไกร(ตอนล่าง)เสร็จแล้ว

.นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (3 ต.ค. 64) แม่น้ำมูลที่ถานีวัดน้ำ M.7 (บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย) อ.เมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,576 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ประมาณ 4 เซนติเมตร  คาดว่าปริมาณน้ำจะยังทรงตัว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม แต่เนื่องจากต้องเตรียมรับน้ำที่มาจากทางตอนบน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำเรือดูดทรายมาดัดแปลง สำหรับใช้ในการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อช่วยในการระบายน้ำบริเวณแก่งสะพือ เนื่องจากแก่งสะพือเป็นแก่งหินขวางกั้นลำน้ำมูล ทำให้น้ำไหลผ่านได้ช้าและน้ำยังไหลย้อนกลับ ทำให้ระบายลงแม่น้ำโขงได้ช้า  กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร ตามแผนที่วางไว้ 100 เครื่อง จะสามารถช่วยเพิ่มอัตราการไหลได้ประมาณวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเรือดูดทรายมาช่วยเร่งอัตราการระบายน้ำได้ประมาณ 5 ลบ.ม./วินาที ช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วมากขึ้น 

ส่วนการช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง ในเขตจ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี และอ.วารินชำราบ ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำมูลสูงขึ้น ส่วน อ.ดอนมดแดง และ อ.ตระการพืชผล ได้รับผลกระทบจากลำเซบกและลำน้ำสาขาที่เอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากไหลลงแม่น้ำมูลไม่สะดวก คาดการณ์ว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในลุ่มน้ำลำเซบกจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3-4 วันนี้    โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 นิ้วบริเวณท้ายแก่งสะพือ จำนวน 1 เครื่อง , บริเวณวัดเสนาวงศ์ อ.วารินชำราบ สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 8 และ 12 นิ้ว รวม 4 เครื่อง บริเวณชุมชนท่ากอไผ่ อ.วารินชำราบ สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ยังได้สนับสนุนกระสอบทราย 500 ใบ และบริเวณชุมชนหาดวัดใต้ อ.เมือง สนับสนุนถุงยังชีพให้แก่ประชาชน และกระสอบทรายเพื่อทำแนวกั้นน้ำ ช่วยเหลือบ้านเรือน จำนวน 300 ลูก

ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัย สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ตามนโยบายของนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัย สำนักงานชลประทานที่ 7 โทร. 045 – 245979 หรือโครงการชลประทานใกล้บ้าน และสามารถโทร. สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง  ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราว ในพื้นที่ก่อสร้างอาคารระบายน้ำ Service Spillway อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง)  จังหวัดนครราชสีมา ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 ที่ได้เร่งรัดให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันได้ทำการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราว บริเวณฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำ Service Spillway อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง)เสร็จเรียบร้อยแล้ว คงเหลือการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของประตูระบายน้ำ ทั้งการถมดินบริเวณฝั่งซ้ายของอาคารระบายน้ำล้น การทำคันดินให้สูงขึ้น ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 70 % 

สำหรับสถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ปัจจุบัน (3 ต.ค.64)  มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6.14 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำในเรื่องการควบคุมการไหลของน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ หากสามารถควบคุมการไหลของน้ำได้ จะได้นำแผ่น Stop lock ปิดการระบายน้ำในอ่างฯ เพื่อเร่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้