นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม วุฒิสภา นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ กรรมาธิการ พร้อมนางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ ,พลตำรวจตรี รักษ์จิต หม้อมงคล ,พันตำรวจเอก สุรภัค รอดโพธิ์ทอง ,นาวาตรี วรวิทย์ เตชะสุภากูร อนุกรรมาธิการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และนายอิทธิพันธ์ บัวทอง ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ
ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดําริ บ้านห้วยลึก และศึกษาดูงานโครงการหลวงห้วยลึก ณ บ้านห้วยลึก ตําบลปิงโค้ง อําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เรื่องอ่างเก็บน้ำในถ้ำ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา เขียนไว้ในบทความวีระศักดิ์ ทางเว็บไซต์www.weerasak.org อ่างเก็บน้ำในถ้ำ นวัตกรรมในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ไปยังอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ได้รับสั่งถึงเรื่องที่เคยมีพระราชดำริถึงวิธีการกักเก็บน้ำรูปแบบใหม่ ในบริเวณพื้นที่แห่งหนึ่งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องที่ทรงคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2524 ครั้งที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบริเวณต้นน้ำแม่แตงในพื้นที่โครงการหลวงแกน้อยและโครงการหลวงพัฒนาที่ดินห้วยลึกโดยให้พิจารณาบริเวณที่เหมาะสมที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แต่จากนั้น จนถึงวันนี้ พระราชดำรินี้ก็ยังไม่ได้ปรากฏออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างเลย และได้รับสั่งถึงการกักเก็บน้ำด้วยรูปแบบใหม่นี้อีกครั้ง ทำให้ผู้ที่ตามเสด็จฯ ในวันนั้นต่างพากันงงงวย เพราะไม่เข้าใจว่ามีรับสั่งถึงเรื่องอะไร และอยู่ที่ไหน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้ตามเสด็จฯ ที่อิมแพ็คในวันนั้นด้วย ได้รับพระราชกระแสและสนองพระราชดำริด้วยการออกสืบค้นข้อมูล ตรวจสอบสถานที่ในภายหลังทันทีที่ได้รับพระราชทานเงื่อนงำแรกว่า“อำเภอขเชียงดาว” ซึ่งเป็นคำสำคัญที่ต้องนำไปวิเคราะห์ ขบคิด และแก้ไข
อุปกรณ์สำคัญที่นำมาใช้ในงานสำคัญครั้งนี้ คือ แผนที่แสดงพิกัด มาตราส่วน 1:50000 ให้ออกว่า คือ สถานที่ไหนตำแหน่งใด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทาน ผู้ชำนาญการในพื้นที่ แม้กระทั่งชาวบ้านในท้องถิ่น
จุดแรกของอำเภอเชียงดาวที่คณะของมูลนิธิชัยพัฒนา และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมชลประทานเข้าไปตรวจสอบ คือถ้ำเชียงดาว ที่พุทธศาสนิกชนเข้าไปสักการะพระพุทธรูปภายในถ้ำ และในถ้ำนี้มีธารน้ำเล็กๆ ไหลรินมาไม่ขาดสาย ยิ่งคณะสำรวจเดินลึกเข้าไปมากเพียงใด ความมืดก็มีมากขึ้น อากาศก็น้อยลง หายใจเริ่มติดขัด คณะสำรวจจึงพร้อมใจกันล่าถอยออกมาจากถ้ำ เพื่อตั้งหลักกันใหม่และก็ได้ช่วยกันไขเงื่อนงำพระราชทานนี้ว่า จะมีที่อื่นที่มีลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงอีกไหม
และก็บังเอิญว่า ในวันสำรวจพื้นที่กันนั้น เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรายงานการดำเนินงานต่างๆ ของมูลนิธิฯ และได้กราบบังคมทูลว่าคณะ ดร.สุเมธกำลังสำรวจพื้นที่ แต่ยังหาไม่เจอ
คณะสำรวจจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณผ่านทางโทรศัพท์รับพระราชทานเงื่อนงำที่สอง ซึ่งเป็นเงื่อนงำที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า“โครงการหลวงห้วยลึก” ที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้รับทราบแล้ว คณะสำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทานจึงได้เดินทางไปพื้นที่โครงการหลวงห้วยลึกทันที และได้พบเงื่อนงำตามที่พระราชทานไว้ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาสำรวจอย่างละเอียด
โครงการหลวงห้วยลึก มีอาณาบริเวณประมาณพันไร่ ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ามูเซอแดง กะเหรี่ยง และม้ง ปลูกกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่งเหลือง และงา โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก พื้นที่เป็นเนินสูงต่ำ เป็นภูเขาหินปูนป่าไม้เป็นลักษณะป่าเบญจพรรณ ที่มีพืชพรรณนานาชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีความชื้นค่อนข้างสูง
เงื่อนงำ “โครงการหลวงห้วยลึก” ทำให้คณะเริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริง เมื่อนำความกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าของการสำรวจ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ทรงเมตตาพระราชทานลายพระหัตถ์ กำหนดพิกัดเป็น “เครื่องหมายกากบาท 3 จุดลงในแผนที่” ซึ่งถือเป็นเงื่อนงำที่สามที่คณะจะต้องสำรวจต่อไปว่า ควรจะเป็นจุดใด และในที่สุดก็ได้พบว่า พื้นที่ที่ทรงกำหนดไว้นั้น คือ ภูเขาหินปูนที่ภายในมีถ้ำ เป็นโพรงขนาดใหญ่ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ตามพระราชประสงค์
“ถ้ำ ณ บ้านห้วยลึก” มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูน ในฤดูแล้งน้ำจะซึมลงใต้ดินแล้วผุดขึ้นเป็นแอ่งน้ำซึมน้ำซับ ส่วนในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำไหลออกมาจากถ้ำ ไหลเรื่อยไปตามลำน้ำเล็กๆ แต่ไม่ได้มีการกักเก็บไว้อย่างใด ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง น้ำที่ไหลทิ้งไปปริมาณมากมายเช่นนี้ ควรที่จะนำมาใช้ในการเพาะปลูก หรือให้ราษฎรในบริเวณนี้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
การกักเก็บน้ำในถ้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวิธีการกักเก็บน้ำแบบใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน เป็นการใช้พื้นที่ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ โดยไม่มีการล้วงล้ำพื้นที่ดินราษฎรให้ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องรบกวนพื้นที่เพาะปลูกที่ราษฎรทำกันอยู่ ที่สำคัญ คือ ช่วยลดการระเหยของน้ำ ทำให้ระดับน้ำใต้ดินเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ให้ศึกษาทดลองถึงผลที่จะเกิดต่อไป รวมทั้งประโยชน์ที่ราษฎรจะได้รับจากการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็น “นวัตกรรม” ที่ใหม่มากทีเดียวสำหรับประเทศไทย และสำหรับโลกเลยก็ว่าได้
เมื่อได้พิกัดที่แน่นอนแล้ว กรมชลประทานจึงได้เริ่มออกแบบการก่อสร้างสันเขื่อนหน้าปากถ้ำเพื่อกักเก็บน้ำ ในระดับความสูง 16 เมตร แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าให้ปรับแก้ความสูงให้ลดลงเหลือ 12.5 เมตร เพื่อความเหมาะสมและประหยัดงประมาณในการก่อสร้าง จากนั้นการก่อสร้างจึงได้เริ่มขึ้น
ในระหว่างการก่อสร้างนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าที่พื้นที่ก่อสร้างด้วยพระองค์เองถึงสองครั้งสองครา ทรงพอพระทัยในการดำเนินงานที่เป็นไปด้วยดี ตรงตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการกักเก็บน้ำในถ้ำตามแนวพระราชดำริ”
และนับเป็นวันมหามงคลยิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549
วันนี้ “อ่างเก็บน้ำในถ้ำ นวัตกรรมที่ถูกลืม” เมื่อหลายสิบปีก่อน พระราชดำรินี้ได้กลับคืน สร้างประโยชน์ที่นำไปสู่ความสุขแก่ราษฎรนานัปการ ทั้งนี้ ด้วยความห่วงใยที่ทรงมีแก่ราษฎร แม้จะเนิ่นนานเพียงใดก็มิทรงลืมเลือน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าว TPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์วัฏจักร