“อลงกรณ์”พอใจผลการเยือนลาวเพิ่มการขนส่งสินค้าเกษตรบนเส้นทางรถไฟ”จีน-ลาว” 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้(23เม.ย)ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนสปป.ลาวระหว่างวันที่ 21-22 เมษายน 2565 ว่า พอใจต่อผลการเจรจาความร่วมมือกับบริษัทเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์คและบริษัทท่าบกท่านาแล้งในการเพิ่มศักยภาพระบบรถไฟ”ลาว-จีน”ในการขนส่งสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาคอขวดของระบบโลจิสติกส์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน มีนโยบายอีสานเกตเวย์เชื่อมไทยเชื่อมลาวเชื่อมโลกโดยความร่วมมือระหว่าง3ประเทศได้แก่ไทย-ลาว-จีนในการพัฒนาการขนส่งระบบใหม่คือรถไฟลาว-จีนให้เป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศด้วยระบบโลจิสติกส์ผสมผสาน”ราง-รถ”(Multi Modal Trasportation)ในการขนส่งสินค้าต่างๆโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยไปสู่จีน เอเซียกลาง ตะวันออกกลางและยุโรปภายใต้การทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า การเจรจากับนายจันทอน สิทธิชัย ประธานบริหารบริษัทเวียงจันทน์โลจิสปาร์ค(VLP)และคณะผู้บริหารบริษัทท่าบกท่านาแล้งร่วมกับนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยและนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ที่นครหลวงเวียงจันทน์ได้เห็นพ้องต้องกันในการเพิ่มขบวนรถไฟ การเพิ่มตู้สินค้า การอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน การเชื่อมโยงท่าบกท่านาแล้วกับสถานีเวียงจันทน์ใต้ การพัฒนาสถานีขนถ่ายสินค้า(ICD)

การพัฒนาระบบการจองขบวนรถสินค้าและการเพิ่มตู้คอนเทนเนอร์และการเปิดบริการด่านตรวจโรคพืชที่ด่านรถไฟโมฮ่านภายในเดือนมิถุนายนหรือพฤษภาคมปีนี้ จะทำให้การขนส่งผลไม้ภายใต้พิธีสารไทย-จีนด้วยระบบรางสะดวกรวดเร็วมากขึ้นโดยจะใช้เวลาเพียง 1-2 วันจากเวียงจันทน์ถึงคุนหมิง รวมไปถึงข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องการพัฒนาระบบเอกสารอีเล็กทรอนิคส์ระหว่างด่านหนองคายกับท่าบกท่านาแล้งเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของพิธีการเอกสารและการจราจรที่ติดขัดบริเวณพรมแดนซึ่งเป็นปัญหาคอขวดมานานโดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดรวมทั้งข้อเสนอให้เปิดด่าน24ขั่วโมงโดยจะรายงานผลการเจรจาให้กับดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ. รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายอลงกรณ์และคณะยังได้ตรวจเยี่ยมท่าบกท่านาแล้ง โครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค ระบบการยกตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟของสถานีเวียงจันทน์ใต้ สถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์(สถานีรถไฟความเร็วสูง)และการก่อสร้างสถานีรถไฟคำสวาทที่ประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณซึ่งเป็นสถานีรถไฟโดยสารจากไทยไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์และจากนครหลวงเวียงจันทน์มาไทยจากเดิมที่จะสิ้นสุดที่สถานีรถไฟท่านาแล้งเพื่อรองรับนักเดินทางและนักท่องเที่ยวจากไทย ลาว จีนและนานาประเทศในอนาคต.