นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย เปิดเผยว่า ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ หรือ เอ็มโอยู ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย พิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาและควบคุมคุณภาพพืชสมุนไพร กัญชา กัญชง รวมทั้งวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์กับ บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด (THCG) และ บริษัท ซีบีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CBO) และพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ กับ บริษัท อะโกรว์แล็บ จำกัด (AgrowLab) โดยการลงนามร่วมกันของทั้ง 4 หน่วยงานนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ประกอบการ ที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจกัญชงกัญชา เช่น ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อเตรียมรองรับการปลดล็อกกัญชงกัญชาออกจาก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มิถุนายน 65
นายชาคริต กล่าวว่า หลังรัฐบาลมีมติปลดล็อกให้กัญชาและกัญชง พ้นจากยาเสพติด โดยกฎหมายอนุญาตให้นำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปได้นั้น พบมีผู้ประกอบการนำสารสกัดและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชง กัญชา เข้ามาทดสอบทางห้องปฏิบัติการจำนวนมาก และเพื่อรองรับการทดสอบดังกล่าว เซ็นทรัลแล็บไทยได้เพิ่มศักยภาพทางห้องปฏิบัติการ ให้ครอบคลุมงานบริการด้านการตรวจวิเคราะห์ประเภทผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง ตลอดจนกระบวนการตรวจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ การตรวจแปลงปลูก ตรวจปัจจัยทางผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงการตรวจโรงงานผลิต ตามมาตรฐาน COA/GMP และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ข้อสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ยังจัดเสวนาในหัวข้อ “ปั้นธุรกิจกัญชา กัญชง ด้วยการสร้างมาตรฐาน รับปลดล็อกพ้นยาเสพติด 9 มิถุนายน” โดยนายอารยะ โรจนวณิชชากร คณะที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข และนางสุภาภรณ์ สายอรุณ ผู้จัดการกลุ่มงานบริการงานวิจัย( Research Service) เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหาและข้อกฎหมายหลังมีการปลดล็อคกัญชา-กัญชง ซึ่งประเด็นสำคัญคือการสร้างมาตรฐานในภาคธุรกิจที่จะนำสาร THC และ CBD มาใช้ในผลิตภัณฑ์หลังจากนี้
โดย นายอารยะ กล่าวว่า หลังปลดล็อกพืชสมุนไพรกัญชา-กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 วันที่ 9 มิ.ย. ในประกาศราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางนั้น รัฐบาลได้เน้นย้ำถึงการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปสู่การส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถปลูกได้แต่ต้องจดแจ้งในระบบของ อย.ส่วนด้านพาณิชย์ต้องขึ้นทะเบียนขออนุญาตตามที่กฏหมายกำหนด แต่ทั้งนี้จะต้องได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะสารสกัดสำคัญ อาทิ THC ,CBD แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของการนำมาใช้ ซึ่งภาครัฐต้องเร่งให้องค์ความรู้ และที่สำคัญคือ การส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและสร้างเครือข่ายโดยเปิดกว้างให้ห้องปฏิบัติการเอกชน เข้ามาดำเนินการ โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่กำกับดูแลและรับรองมาตรฐาน ทั้งยังเป็นกลไกด้านราคาที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น
ซึ่งเซ็นทรัลแล็บไทย ในฐานะห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ได้รับใบอนุญาตการตรวจสารสำคัญจากภาครัฐ และผ่านการเปรียบเทียบผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการในการตรวจสารสำคัญในพืชกัญชกัญชา กับสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมยินดีให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างมาตรฐานสินค้า อีกทั้งยังได้รับกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนอีกมากมายในการสนับสนุนผู้ประกอบการ
สำหรับข้อบังคับในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยในข้อที่ 3 ระบุไว้ว่า สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร