“เอนก” ดัน U2T for BCG หวังโชว์โมเดลเศรษฐกิจใหม่ในที่ประชุมเอเปค เปิดลงทะเบียนออนไลน์รับบัณฑิตจบใหม่และประชาชน 68,350 คน ร่วมโครงการ U2T for BCG

ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ได้ประชุมมอบนโยบายโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG(U2T for BCG and Regional Development)” หรือโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2562 โดยจะดำเนินการในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย.นี้ ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG เป็นโครงการที่ทุกคนรอคอยและเป็นที่ต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง นี่คือโครงการที่ใหญ่ที่สุดของ อว. ที่จะดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกตำบล รวมทั้งทุกแขวงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะใช้เวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.- ก.ย. 65 และจะโฟกัสเรื่องเดียวคือ BCG เท่านั้น เพราะเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่จะเชื่อมโยงไปถึงการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในรอบ 20 ปีมีครั้ง และ BCG คือหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยจะนำเสนอ ดังนั้น อว.จะนำผลงาน U2T for BCG ไปโชว์ให้กับผู้นำแต่ละประเทศได้เห็นถึงโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่ขับเคลื่อนด้วย

รมว.อว.กล่าวต่อว่า U2T for BCG จะเป็นการรวมพลังของมหาวิทยาลัยรัฐกว่า 70 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชนกว่า 20 แห่ง ทำร่วมกับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่กว่า 68,350 คน ซึ่งโครงการนี้จะต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า อว.เป็นคนทำ และให้เห็นภาพของรัฐบาลในการสนับสนุน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งใจที่จะผลักดันงบประมาณที่เป็นงบกลางมาให้ อว. ดำเนินโครงการนี้ ในช่วงเวลา 3 เดือน ดังนั้น 3 เดือนจากนี้เป็นต้นไป โครงการ U2T for BCG ต้องทำให้มาก ให้ดี ให้เร็วและประหยัด และจะไม่ทำซ้ำกับโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ที่สำคัญ U2T for BCG จะทำให้ผู้ร่วมโครงการกลายเป็นคนที่สามารถ ซึ่งเกิดจากการทำงานกับผู้คนและสังคม ทำให้ได้ทั้งวิชางาน วิชาชีวิต  เปลี่ยนความเก่งและดีที่มีอยู่ให้กลายเป็นความสามารถให้ได้

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวชี้แจงแนวทางการดำเนินงานว่า อว.จะเปิดรับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ กว่า 68,350 คน ที่ต้องการเข้ามาร่วมเป็นทีม อว. โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนโครงการ U2T for BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเป็นรายตำบลทั่วประเทศ โดยกรอกข้อมูลผ่านระบบกลางออนไลน์ของ อว. แล้วจะเชื่อมโยงข้อมูลให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบแต่ละตำบลเป็นผู้คัดเลือก หลังจากนั้นจะแบ่งการลงพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ 3 พันตำบลเดิม ตำบลละ 8 คน ขณะที่ในอีก 4,435 ตำบลใหม่ ได้ตำบลละ 10 คน เพื่อทำหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน โดยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและบริการ การส่งเสริมการขยายและการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูง การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ การขนส่งและกระจายสินค้า ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของโครงการฯ คาดว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของชุมชนที่ได้มาตรฐานและได้ออกสู่ตลาด จะมียอดขายเพิ่มขึ้นหรือการบริโภคเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2Tได้รับความชื่นชมจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ซึ่งขณะนี้จะมุ่งเน้นด้าน BCG ในพื้นที่ แต่ยังเป็นการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG ด้วย” ปลัด อว.กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. นี้ อว.จะเปิดให้บัณฑิตและประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการร่วมโครงการ U2T for BCG ลงทะเบียน ผ่านทางเว็บไซต์ http://u2t.ac.th ก่อนที่จะกระจายกำลังลงไปทำงานในทุกตำบลต่อไป.

ทั้งนี้ที่ประชุม ครม. (14 มิ.ย. 65) เห็นชอบโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ใน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ วงเงินรวม 3,566.28 ล้านบาท เพื่อจ้างงานประชาชนและบัณฑิตจบใหม่กว่า 68,350 คน ร่วมขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตั้งเป้าเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน 

.

กลุ่มเป้าหมาย :

✅บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี/ ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ ประชาชน ผ่านการจัดกิจกรรมกว่า 15,000 กิจกรรม ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการเพื่อเพิ่มคุณภาพ – ลดต้นทุน การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น โดยสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละพื้นที่ (ตำบล) จะเป็นผู้บูรณาการระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ พร้อมใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ (Thailand Community Big Data: TCD) ในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

.

การจ้างงาน :

📍พื้นที่ 3,000 ตำบล จะต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จำนวน 8 คน/ตำบล (บัณฑิตจบใหม่ 4 คน และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง – ประชาชนในพื้นที่ 4 คน)

📍พื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ จำนวน 10 คน/ตำบล (บัณฑิตจบใหม่ 5 คน และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง – ประชาชนในพื้นที่ 5 คน)

🗓ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน เริ่ม 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 65