ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเคลื่อนไหว พรรคเพื่อไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 กันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย (เช่น การลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ฯ ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และการลาออกจากหัวหน้าพรรค ฯ ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.16 ระบุว่า เป็นแค่การปรับเปลี่ยนทั่ว ๆ ไปของพรรค ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รองลงมา ร้อยละ 19.30 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เร็ว ๆ นี้ ร้อยละ 9.27 ระบุว่า เป็นกลลวงทางการเมืองของพรรค ฯ ในการเอาชนะรัฐบาล ร้อยละ 8.36 ระบุว่า คนในตระกูลชินวัตรจะเข้ามาควบคุมพรรค ฯ เอง ร้อยละ 7.14 ระบุว่า เป็นสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะแตก ร้อยละ 6.00 ระบุว่า พรรค ฯ กำลังมีข้อตกลงปรองดองกับรัฐบาล ร้อยละ 4.71 ระบุว่า พรรค ฯ เตรียมเข้าร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 3.65 ระบุว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าพรรค ฯ ไม่สนับสนุนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร้อยละ 0.23 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ มีการเตรียมตัวเพื่อลงสมัครการเมืองท้องถิ่น และเกิดความขัดแย้งภายในพรรค และร้อยละ 17.25 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ร้อยละ 15.88 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้ช่วยกันบริหารประเทศให้ดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมานาน ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการปรองดอง ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้ดีขึ้นได้ ร้อยละ 16.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ มีแนวทางการทำงานทางการเมืองไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างยาก ร้อยละ 49.09 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ แนวคิด จุดยืนทางการเมือง การทำงานมีความแตกต่างกันซึ่งถ้าเข้าร่วมอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังได้ และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ร้อยละ 24.09 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ จะได้มีการแก้ไขปัญหา พัฒนา เปลี่ยนแปลง การเมืองไทยร่วมกัน ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 22.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ จะได้มี การบริหารจัดการปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง ร้อยละ 14.51 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้ยาก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังต้องการให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ร้อยละ 37.54 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ แนวทางการทำงาน อุดมการณ์แตกต่างกัน ต้องการให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคอื่นร่วม เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรคอย่างชัดเจน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 1.75 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.99 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.31 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.43 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.01 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.99 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 7.22 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 13.68 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.24 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.43 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 21.43 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.98 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.88 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.53 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.19 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.94 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.34 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.53 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 30.01 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.61 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.38 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.32 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.84 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 9.35 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.37 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.87 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.83 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.55 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.47 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.42 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.14 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 18.85 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.54 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.70 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.95 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.54 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.42 ไม่ระบุรายได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร