นักวิชาการห่วงสถานการณ์วิกฤตการเมืองแตกหักทั้งในและนอกสภา วอนรัฐบาลปรับความคิดแก้ปัญหาใหม่

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เจาะลึกทั่วไทย inside thailand  ถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาในการหาทางออกของประเทศ ในวันนี้ว่า ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นการเติมเชื้อไฟมากกว่าดึงฟื้นอออกจากไฟ และการต่อสู้ในรัฐสภาจะไหลงลงไปสู่ถนน จะเป็นเวทีหนึ่งที่สร้างปัญหา เพราะการดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์  เช่น การทำบุญ การจัดคนเสื้อเหลือออกมา

ศ.ดร.สุรชาติ ระบุด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์น่าจะถึงจุดแตกหักทั้งในและนอกรัฐสภา เหตุการณ์หลายอย่างในขณะนี้มีความคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 มีการตั้งมวลชนขึ้นมา มีสื่อที่ทำหน้าที่คล้ายดาวสยาม และวิทยุยานเกาะ จึงขอให้รัฐบาลคิดใหม่ และเข้าใจการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เป็นเวทีใหม่ เครื่องมือใหม่ และแนวการเมืองใหม่

สำหรับกรอบเวลาอภิปรายรวม 23 ชั่วโมง ได้แก่ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง และแบ่งเวลาให้ประธานรัฐสภาอีก 1-2 ชั่วโมง

ส่วนหัวข้อในการอภิปราย “รัฐบาล” ได้มีการเสนอไว้ 3 ข้อคือ

1.การพิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศดังกล่าว เพื่อผ่อนคลายมาตรการห้ามหรือควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักเดินทางจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ติดเชื้อจากทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าประเทศทุกวัน อีกทั้งพบการชุมนุมในกทม. และต่างจังหวัดที่มีการแออัดประชิดตัวบ่อยครั้งประกอบมีฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายจังหวัด ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขกังวลต่อการระบาดของโรคได้ง่าย

2. การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่พบกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนขวางทางและหยุดขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปตั้งเปรียญ ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ล้อมรถพระที่นั่งและตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคาย แสดงอาการไม่สมควรและเป็นการคุกคามเสรีภาพของผู้อยู่ในขบวนเสด็จฯ และจากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลจึงออกประกาศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กทม. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 04.00 น.

3. สถานการณ์การชุมนุมตามจุดต่างๆ เช่น สี่แยกราชประสงค์, สี่แยกปทุมวัน, ศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสาร ที่มีความวิตก จะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย คมนาคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์และควบคุมบุคคลบางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีบทบาทยุยงและก่อให้เกิดการกระทำความผิด แต่การชุมนุมยังมีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้การชุมนุมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายครั้ง เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งข้อเรียกร้องบางข้ออยู่ระหว่างดำเนินการ

การชุมนุมบางครั้งบางแห่งจะเรียบร้อย แต่บางแห่งยังพบการจาบจ้วงบุคคลอื่น ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินของทางราชการและก่อให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ทำผิดกฎหมายและไม่ได้อยู่ในความมุ่งหมายของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งน่าวิตกว่าอาจมีบางฝ่ายแฝงตัวฉวยโอกาสใช้อาวุธก่อความปั่นป่วนวุ่นวาย และมีฝ่ายที่เห็นต่างได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ออกมาตอบโต้ ต่อต้าน จนเป็นการปะทะกันและเกิดจลาจลในบ้านเมือง