สสรท. และ สรส. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น เรียกร้องรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล ต้องเท่ากันทั้งประเทศ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล เรื่อง   ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล ต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับมาตรการควบคุมราคาสินค้า โดยระบุว่า 

ตามที่ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ดำเนินการทั้งการแถลงข่าว การขับเคลื่อนมวลชน การยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาล ทั้งรัฐบาลชุดเก่าและชุดใหม่ แสดงจุดยืนในการปรับค่าจ้างหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา

และได้ทำแบบสำรวจสถานะการดำรงชีวิต ค่าจ้าง รายได้ หนี้สิน ของคนงานให้สังคมได้รับทราบ และภายหลังที่ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็นได้ถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนดาหน้าแสดงอาการไม่เห็นด้วย คัดค้าน และมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ สสรท. และ สรส. หวั่นไหว เพราะทั้งสององค์กรเป็นตัวแทนของคนงาน ทำงานและเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่พอกินพอใช้ หนี้สินพอกพูน คุณภาพชีวิตตกต่ำ ระบบการจ้างงานก็ไม่มั่นคง ทำให้ความยากจนแผ่กระจายทั่วประเทศ จนถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดของโลก

สสรท.และ สรส.จึงต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนงาน แม้จะทำให้บางกลุ่มบางคน กลุ่มทุน และรัฐบาลไม่พอใจ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพราะมีพื้นที่ มีช่องทางครอบคลุม ถึงขั้นกรอกหูสังคม ข่มขู่ผู้ใช้แรงงานได้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องฟังเสียงของคนงาน คนยากจน แต่เฉพาะในส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ต้องปรับทัศนคติตัวเองและเข้าใจความเป็นจริงบ้างว่า ผู้ใช้แรงงาน คือ คนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร

จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร การสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และหลักประกันในอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชน สร้างศักยภาพเศรษฐกิจในประเทศแบบพึ่งพาตนเองเป็นด้านหลัก คือการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่รอแต่นักลงทุนจากต่างประเทศ รอนักท่องเที่ยวมาสร้างเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากยิ่งในสถานการณ์ความเสี่ยงของสังคมโลกในปัจจุบัน

ทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้

๑. ปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติไว้ใน “ข้อ ๒๓ (๓)

ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่า

แก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย”

๒. อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๓๑ บัญญัติไว้ใน “มาตรา ๓ องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศต้องรวมถึงความจำเป็นของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ จากการประกันสังคมและมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่น ๆ”

๓. รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ดูเหมือนว่าจะเข้าใจสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และได้เสนอนโยบายเร่งด่วน เช่น แจกเงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต คนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป พร้อมกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๖๐๐ บาท จ้างงานในวุฒิปริญญาตรี ๒๕,๐๐๐ บาท เป็นต้น

อย่าให้ประชาชนกล่าวหาว่า นโยบายที่ใช้หาเสียงนั้นเป็นเพียงนโยบายเพื่อให้คะแนนเสียงเท่านั้น จนถึงขณะนี้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย มีปัญหามากมายรวมทั้งค่าจ้างขั้นต่ำก่อนหน้านี้ก็บอกว่าค่าจ้างต้องไม่น้อยกว่าวันละ ๔๐๐ บาท ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด วันละ ๓๗๐ บาทเท่านั้น และ อัตราต่ำสุดอยู่ที่ ๓๓๐ บาท ซึ่งปรับเพิ่มเพียง ๒-๑๖ บาทเท่านั้น ในขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ได้ปรับราคาขึ้นอย่างมาก รัฐบาลไม่สามารถที่จะควบคุมราคาได้ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลปล่อยกิจการของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจถูกถ่ายโอนการผลิตให้กลุ่มทุนเอกชนเกือบทั้งหมด

ประเทศไทยไม่อาจเดินลำพังโดยไม่ปฏิสัมพันธ์กับนานาชาตินั้นไม่ได้ เมื่อรัฐบาลจะพัฒนาประเทศจึงต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ “ต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่าเลือกทำบางเรื่อง ไม่ทำบางเรื่องเลือกปฏิบัติ สังคมไทย สังคมโลกจะประณามว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ดี เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ในหลักสากลว่าต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องชี้วัดว่า “รัฐบาลจริงจัง จริงใจ ในคำประกาศแค่ไหน” ค่าจ้างที่แถลงมานั้น ลำพังคนเดียวอยู่ได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ แล้วเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร รัฐบาล กลุ่มทุนและคนที่เห็นต่าง…ลองตอบคำถามดู

ทำไมการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ

๑.         ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกัน

ประการแรก ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ วันละ ๑๒ บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละช่วงแต่ละปีเรื่อยมา จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัวแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถปรับขึ้นค่าจ้างเองได้โดยผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด แล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงานยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดูจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง รัฐไทยยังไม่รับรองทั้ง ๆ ที่เป็นอนุสัญญาหลักของ ILO ในต่างจังหวัดจึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง

จึงทำให้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำกันมากบางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัดค่าจ้างต่างกันแต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในการครองชีพแตกต่างกัน และที่สำคัญทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูงทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมา ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน

ประการที่สอง กล่าวคือ วันนี้คนงานคนหนึ่งต้องทำงานมากกว่าวันละ ๘ ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเพราะค่าจ้างต่ำในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภค ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะอยู่ในต่างจังหวัดแต่วิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ผูกพันกับร้านสะดวกซื้อซึ่งราคาสินค้าไม่แตกต่างกัน  บางรายการแพงกว่าในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป แค่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างจังหวัดก็แพงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก แต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะควบคุมราคาสินค้า หรือ กำหนดราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบราคาเป็นเขตพื้นที่เหมือนกับค่าจ้าง ซึ่งจะมีข้ออ้างทุกครั้งว่าการปรับค่าจ้างแล้วราคาสินค้าจะขึ้นราคา แท้จริงแล้วในผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์

๒.        ผลดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ

ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูงเพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงานกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครอบครัวไม่แตกสลาย

ประการที่สอง เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้

เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้เช่น การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

การปรับค่าจ้างหากมองมิติเดียวแคบ ๆ แบบไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้ เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คือ อุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องความยากจน ก้าวไม้พ้นเรื่องหนี้สิน ต่อให้กี่รัฐบาล ต่อให้กี่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้

ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ที่จะพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกระทรวงแรงงานจะนำเสนอ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศและนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จะต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนโดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ ๓ คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างภาครัฐซึ่งยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

สสรท. และ สรส. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น ที่ได้ขยาย ไปเรื่อย ๆ จาก ๔  ราคาในปี ๒๕๖๑ เป็น ๙ ราคา ในปี ๒๕๖๕ และกำลังจะเป็น ๑๗ ราคา ในปี ๒๕๖๗

และรัฐบาลควรกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการจัดทำ โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าและปรับค่าจ้างทุกปีตามดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ โครงสร้างค่าจ้างจะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ ผู้ประกอบการก็สามารถวางแผนธุรกิจได้ พรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไปหาเสียงและจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเท่าใด พร้อม ๆ กับการปรับค่าจ้าง ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง”