ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เตรียมแถลงมาตรการผ่อนปรนหรือคลาบล็อกดาวน์ทั่วประเทศ หลังนายกรัฐมนตรีลงนามข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทําการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่ง ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด
วันนี้เวลา 11.30 น.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)แจ้งสื่อมวลชนจะแถลงมาตรการผ่อนปรน โดยมีนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ภาคเอกชนในศบค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ลงนามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 9 โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548(ฉบับที่ 4 ) ใจความว่าตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แล้ว นั้น
โดยที่รัฐบาลได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเป็นลําดับอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงร่วมกันประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลาย หรือเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้บางมาตรการ โดยมุ่งจะให้การควบคุมและการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยเร็วและไม่ย้อนกลับมาอีก
ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถดํารงชีวิต ได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคําแนะนําของทางราชการ โดยจะพิจารณาผ่อนคลาย เป็นลําดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกําหนดและคํานึงถึงประเภทของกิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อย สถานที่ซึ่งสามารถจัดระบบควบคุมดูแลได้ และผู้เกี่ยวข้องซึ่งสามารถ นํามาตรการป้องกันโรคมาบังคับใช้ได้เป็นลําดับแรก
โดยใช้ช่วงเวลาระยะแรกนี้เตรียมการเพื่อรองรับ การจัดระบบตามมาตรการและคําแนะนําของทางราชการไปพลางก่อนอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังนี้ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วย การเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทําการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่ง ตามข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด
ประกาศ หรือ คําสั่งเป็นอย่างอื่นทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ขณะที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชกาารกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศข้อกำหนดมาตรการคลายล็อคให้เปิดบริการได้ 8 สถานที่เพื่อให้ธุรกิจและเจ้าหน้าที่เตรียมตัวรองรับการประกาศของศบค. โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำกรุงเทพมหานคร พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า กิจกรรมและสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่ำ แต่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตสูง สามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น และเคร่งครัด จำนวน 8 สถานที่ ดังนี้
1.ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม 2.ร้านตัดผม/เสริมสวย 3.ตลาดสด/ตลาดนัด 4.สนามกีฬาที่มีการเว้นระยะห่าง 5.สวนสาธารณะ 6.สนามกอล์ฟ/ฝึกซ้อมกอล์ฟ 7.โรงพยาบาล/คลินิก 8.ร้านตัดขนสัตว์
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าว TPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์วัฏจักร