นายกรัฐมนตรีพบปะประชาชน อ.ท่ายาง เพชรบุรี ยืนยันทำงานเพื่อทุกคน ขอพรให้ประเทศชาติปลอดภัย ทำงานได้สำเร็จ กำชับกำหนดแผนแก้ไขปัญหาจัดการน้ำฯลุ่มน้ำเพชรบุรีในทุกมิติ

วันนี้ (22 ก.ย.64) เวลา 13.25 น. ณ บริเวณตลาดท่ายาง ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจร้านค้าบริเวณตลาดท่ายาง เพื่อดูสภาพเศรษฐกิจท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่องจังหวัดเพชรบุรี โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมการตรวจเยี่ยม ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี  ข้าราชการ  คณะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวท่ายางมารอให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรี ได้เดินเยี่ยมผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ พร้อมทักทายพูดคุยกับประชาชนสอบถามถึงความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพด้วยความห่วงใย โดยนายกฯ บอกให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ย้ำทุกคนในประเทศต้องรักกัน ทั้งประชาชน พลเรือน ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลทำฝ่ายเดียวคงไม่ได้ หากทุกคนไม่ช่วยกันทำทุกอย่างก็คงไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ขณะที่ประชาชนชาวท่ายางก็ได้ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี พร้อมมอบดอกไม้ พืชผลการเกษตร ให้กับนายกรัฐมนตรีเป็นที่ระลึก ประชาชนต่างตะโกน “รักลุงตู่” “ลุงตู่สู้ ๆ” “นายกฯ สู้ ๆ” และมีตัวแทนประชาชนกล่าวว่าได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว  โดยนายกฯ กล่าวยืนยันทำงานเพื่อทุกคน อนาคตต้องดีกว่าวันนี้  โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้าสักการะศาลเจ้าพ่อกวนอูเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งนายกฯ กล่าวว่าได้อธิษฐานขอพรให้ประเทศชาติปลอดภัย และทำงานได้สำเร็จ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางต่อไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำและแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเพชรบุรี

ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตรวจสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำและแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเพชรบุรี

สำหรับการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่บ่อยครั้ง กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยควบคุมการระบายน้ำที่เขื่อนเพชรให้ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ ที่อำเภอเมือง น้ำส่วนที่เหลือจะถูกผันน้ำเข้าระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างฯ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีทั้งระบบ ที่ได้กำหนดแนวทางการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทย ด้วยการปรับปรุงคลองระบายน้ำ คลองส่งน้ำ และการขุดขยายคลอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการลงพื้นที่แต่ละครั้งว่า เพราะตนเองมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ตั้งใจมารับฟังข้อมูลและรับทราบปัญหาในแต่ละพื้นที่โดยตรง รวมทั้งให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดแผนแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงทางด้านน้ำในอนาคต โดยให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและลดผลกระทบในช่วงฤดูน้ำหลากด้วย

นายกรัฐมนตรีกำชับในการเสนอของบประมาณจะต้องเป็นแผนงานที่ทำได้จริง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด พร้อมทั้งวางแผนใช้งบประมาณแบบต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการ ส.ส. และประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรมการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรมากขึ้น

เวลา 16.20 น. ณ โรงแรมรีเจนท์ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประชุมเตรียมความพร้อมเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว (Sandbox) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ให้การช่วยเหลือภาคเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง SME รวมถึงระดับรากหญ้า พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนี้ 1. ขอขยายเวลาและรูปแบบในการสนับสนุนด้านการเงินกับธุรกิจทุกขนาดที่ต้องการความช่วยเหลือ 2. ขอรับการสนับสนุนวัคซีนสำหรับฉีดให้กับผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อให้ทันต่อการเปิดเมือง รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย 3. ขอรับสนับสนุนงบประมาณระยะยาวสำหรับโครงการ The Royal Coast หรือ Thailand Riviera เส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเล เพื่อการกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง กระจายรายได้จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พัฒนามาตรฐานด้านความสะดวกและปลอดภัยให้สอดคล้องรองรับการได้เป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร

นายกรัฐมนตรีชื่นชมแนวคิดการเปิดเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ แต่ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เตรียมความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยขอให้มีการประเมินติดตามผลอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของการสนับสนุนวัคซีน นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุน ขอภาคเอกชนอย่าได้เป็นกังวล พร้อมมอบแนวทางให้ผู้ประกอบการโรงแรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว จะต้องคิดหาวิธีดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะต้องไม่มีไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น ประเทศไทยจะต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวตลอดทั้งปี

นายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้อง กับแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 โดยเฉพาะการเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในแต่ละพื้นที่ รวมถึงมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ตระหนักถึงความจำเป็น ในการเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว (Sandbox) ทั้งนี้ จะต้องอาศัยร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการยอมรับของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป