บทความซีรี่ย์ : ท่องเที่ยวถ้ำ ตอนที่ 3 ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย : กิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่ท่องเที่ยวไทยน่าพัฒนา : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ปฏิบัติการกู้ภัยช่วย 13 ชีวิต เยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่ที่เกิดขึ้นเพียงสองปีก่อนโควิดระบาด ได้ทำให้ความน่าสัมผัสของถ้ำเจิดจ้าขึ้นอย่างสำคัญ

คนไทยเองก็ตื่นตัวอยากรู้จักถ้ำมากขึ้น

การท่องเที่ยวป่าเขา และถ้ำจึงได้รับการสนใจทั้งจากตลาดภายใน และจากภายนอกประเทศอย่างไม่ต้องเสียค่าโฆษณา

แม้สมมุติโควิดผ่านไปแล้ว ก็จะยังมีคนเมืองจำนวนมากที่ยังไม่สะดวกใจไปเที่ยวนอกประเทศ แต่อยากออกจากเมืองไปเปลี่ยนบรรยากาศ

ป่าเขาและเทือกถ้ำไทย อาจจะได้ผู้มาเยือนหน้าใหม่แยะกว่าเดิม

ดีที่การได้พักฟื้นของธรรมชาติในช่วงล็อคดาวน์ของโลก ทำให้กลไกธรรมชาติพอได้พัก ไม่ต้องผจญกับการบุกไปเหยีบย่ำของมนุษย์เท่าเดิม

กรณีตัวอย่างคือ หาดทรายหลายแห่งมีปู มีเต่า กลับมาปรากฎตัวมากขึ้น เพราะหลายปัจจัย เมื่อหาดทรายไม่ถูกนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ รบกวนทุกวันจนเกินความสามารถในการรองรับ ทรายบนหาดที่เคยถูกย่ำบดอัดก็เริ่มคลายตัวปรับฟื้นตนเองขึ้นมาใหม่  สัตว์เล็กๆ ที่อาศัยหากินหาอยู่ใต้พื้นทรายจึงทยอยปรากฏขึ้นมา

ถ้ำเองก็เช่นกัน ไขมันจากนิ้วมือที่จับต้อง ผิวผนังถ้ำ ลมหายใจและไออุ่นจากตัวคนที่เข้าถ้ำจำนวนมากเกินไปก็สามารถเปลี่ยนระบบนิเวศน์ในถ้ำได้ การใช้ไฟส่องสว่างที่ไม่ถูกต้องกระทบความชื้นที่เคยลงตัวในบางโถงได้ นี่ยังไม่นับถึงความสึกกร่อนในจุดเปราะบาง หรือที่ร้ายกว่าคือการขีดเขียน จารึก บนต้นไม้บนหินที่ทำลายความบริสุทธิ์ของเส้นทางเรียนรู้ธรรมชาติ

ตลอดจนการใดๆ ที่ไม่เคารพต่อความเชื่อของชาวท้องถิ่น

โอกาสและความท้าทายเหล่านี้จะกลับมาเริ่มวนใหม่ ถ้าเราไม่เตรียมทั้งนโยบาย และการเรียนรู้ชุดใหม่ที่จะต้องใช้ในไม่ช้า

ช่วงการระบาดของโควิด19 จึงทอดเวลาให้เราสามารถทำการบ้านได้รอบคอบ และครอบคลุมมากขึ้น

นอกจากไทยจะมีถ้ำอยู่เป็นจำนวนมากกว่าที่คนไทยตระหนัก ด้วยตัวเลขหลักหลายๆ พันๆ แห่ง กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ

บางแห่งอยู่ติดถนน 4 เลน 8เลนด้วยซ้ำ

แต่ส่วนมากจะอยู่ห่างเส้นทางหลักเข้าไป

ถ้ำบางแห่งอยู่ในเขตป่าบ้าง เขตวัดบ้าง อยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์บ้าง อยู่ในอุทยานบ้าง อยู่ในแหล่งโบราณคดีบ้าง อยู่ในพื้นที่ อบต. เทศบาลบ้าง อยู่ในพื้นที่ทหาร อยู่บนเกาะ อยู่ติดหาดทราย หรืออยู่ใต้น้ำที่มีอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลงบ้าง อยู่ตามคุ้งแม่น้ำบ้าง บางแห่งถ้ำอยู่บนที่ราบก็มี

การที่ผมและท่านพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เห็นร่วมกันในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าประเทศไทยน่าจะมีคณะกรรมการนโยบายและบริหารถ้ำแห่งชาติ หลังเหตุการณ์กู้ภัยในถ้ำหลวงจบลงนั้น ก็เพราะเราได้รับทราบทั้งศักยภาพและความท้าทายที่ถ้ำไทยมี

และเพราะมีหน่วยเจ้าของถ้ำอย่างหลากหลายนี่แหละ ที่ทำให้การมีคณะกรรมการระดับชาติที่ ครม.ตั้ง จะช่วยให้ทุกหน่วยมาร่วมทำงานกันถนัดขึ้น

ประกอบกับเมื่อได้รับการยืนยันจากทีมกู้ภัยในถ้ำชาวต่างประเทศ และทีมปีนเขาโรยตัวที่เข้าร่วมปฏิบัติการในการลำเลียงเด็กๆ ออกจากจุดน้ำท่วมอันตรายลึกเข้าไปหลายกิโลเมตรจากปากถ้ำ ว่าพวกเขาเคยเห็นถ้ำมาแล้วในทั่วโลก แต่พวกเขายืนยันว่า ความน่าอัศจรรย์ของถ้ำไทย เมื่อประกอบกับความมีไมตรีในวัฒนธรรมท้องถิ่น ความมีรสชาติของอาหารชาวบ้านและความเอื้อเฟื้อของคนไทย ทำให้พวกเขามั่นใจว่า

เมืองไทยมีดี..จริงๆ

ตลาดนักสำรวจ นักวิจัย นักผจญภัย นักกีฬาปีนเขา นักลงทุนกิจกรรมกลางแจ้ง สถาบันฝึกทักษะกลางแจ้ง ทั้งในไทย หรือในระดับสากลก็น่าจะสนใจประเทศไทยได้ไม่ยาก

เพราะการบริการด้านอาหาร ที่พัก เดินทาง การรักษาพยาบาลที่ไทยมีอยู่นับว่าเป็นสิ่งที่เอื้อเฟื้อให้น่าพิจารณาอยู่แล้ว

แหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำและกิจกรรมปีนป่ายนั้น อาจมีได้ในที่อื่นทั่วโลกก็จริง แต่ ที่เหล่านั้นมักจะตั้งอยู่โดดเดี่ยว ระบบสนับสนุนเข้าถึงยาก

สิ่งที่ยังสามารถพัฒนาต่อในไทย จึงอยู่ที่เรื่องนโยบายที่ตรงประเด็น การวางโครงสร้างที่สามารถก้าวข้ามความซับซ้อนของระเบียบที่ต่างหน่วยต่างทำ

 ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยที่ทั้งภาคราชการ องค์กรที่กำกับพื้นที่ ผู้สร้างระเบียบกติกา จะพึงมี

การดูแลค่าธรรมเนียม ค่าเช่า และการประกาศกำหนดขั้นตอน ตลอดถึงการเข้าใจถึงมาตรการสนับสนุนให้กิจกรรมนันทนาการ แนวนี้ ได้รับการก่อตัวขึ้น การเอื้อเฟื้อต่อการนำเข้าอุปกรณ์คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงๆ มาใช้งาน

การวางระบบภาษีที่จะช่วยเอื้อเฟื้อต่อท้องถิ่น การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อจัดการทรัพยากรร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ

จึงเป็นฐานใหม่ที่จะยกระดับการท่องเที่ยวของไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น

ฟื้นตัวเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวโดยชุมชน

อย่างไรก็ตาม ถ้ำในไทยแม้มีอยู่มาก แต่เราต้องมองถ้ำว่าเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และหลายถ้ำก็ยังอยู่ห่างไกลจากการเข้าถึง และยังสำรวจได้ไม่ทั่วถึง

ดังนั้น เราจึงอาจเลือกเฟ้นจัดชั้น และกันแยกกลุ่มถ้ำที่ยังไม่จำเป็นต้องเปิดให้คนเที่ยว ออกคัดเลือกกลุ่มถ้ำที่มีศักยภาพที่เหมาะสม ไม่นำมาซึ่งความขัดแย้งหรือความเสี่ยงที่ยังไม่ได้ป้องกันออกไปก่อน

สำหรับกลุ่มถ้ำที่จะเปิดให้พัฒนาร่วมกันนั้น

อาจเริ่มด้วยการเทียบเคียงกติกามาตรฐานที่กรมการท่องเที่ยวเคยกำหนดไว้ไปได้พลางก่อน

เพราะการยกระดับมาตรฐานนั้น ยังสามารถเติมมิติต่างๆ ได้เสมอ

เรายังสามารถจัดชั้นระบุความยากง่ายในการเข้าถึง เพราะบางถ้ำบางผา อยู่ลึกจากถนนหลักเข้าไปไกล เส้นทางในหน้าฝนอาจไม่สะดวก

มีบอกความยากง่ายในการเข้าชมเมื่อไปถึง  บางถ้ำต้องใช้การเดินขึ้นหรือเดินข้ามเขาเป็นระยะทางเพิ่มพอควร บางถ้ำมีทางเข้าช่องทางหนึ่ง และมีทางออกอีกช่องทางหนึ่ง เพราะวิธีชมต้องไปแบบวันเวย์ ย้อนสวนไม่ได้

บางถ้ำมีทางออกหลายทาง และหลงง่าย

บางถ้ำ มีเหวในถ้ำก็มี มีหน้าผาในถ้ำให้ต้องไต่ขึ้นก็มี

สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าเพื่อเตือนผู้ที่ไปเข้าเยี่ยมชมให้ทราบ เพื่อประเมินข้อจำกัดของตนเอง

ผมเคยพบผู้ที่ร่วมกับคนในครอบครัวเข้าถ้ำ ช่วงแรกๆ ก็ไม่มีข้อจำกัดอะไร แต่พอไปถึงระยะหนึ่งมีบันไดชันให้ต้องไต่ คุณสุภาพสตรีบอกว่าน่าจะไม่ไหว

ทีนี้ก็อิหลักอิเหลื่อล่ะครับ

คณะสมาชิกจะไปต่อก็ห่วง จะถอยกลับก็มาไกลแล้ว

ในที่สุดก็ต้องถอยกลับเอา

ดังนั้น การให้ข้อมูลสำคัญที่อ่อนไหวจึงสำคัญมาก สำหรับการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผจญภัยในกลางธรรมชาติที่อาจควบคุมไม่ได้ทุกอย่างแบบสวนสนุก

การจัดการด้านความปลอดภัยในการเข้าชม เป็นอีกประเด็นที่ต้องใช้ความรู้ ที่ละเอียดอ่อนพอควร

ถ้ำที่ได้รับการสำรวจและเปิดให้เยี่ยมชมได้ควรถูกจัดชั้นแบบละเอียด

เช่นถ้าชมแค่โถงหน้าสุด แสงแดดส่องถึง ประเมินความเสี่ยงแล้วต่ำมาก ก็แล้วไป

แต่ถ้าจะเข้าลึกกว่าจุดกำหนด ใครจะเข้าต้องซื้อประกันภัยเพิ่ม และต้องปฏิบัติตามกติกาที่กำหนด มิเช่นนั้นจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของเงื่อนไขการเอาประกันถ้าเกิดมีเหตุ

สถานที่หลายแห่งทางธรรมชาติไม่สามารถกู้ภัยกันได้ง่าย ทีมกู้ภัยต้องมีค่าใช้จ่าย อุปกรณ์กู้ภัยส่วนมากราคาแพง

ประเทศใดจะทำเรื่องท่องเที่ยวธรรมชาติและผจญภัยนั้น แม้จะสร้างรายได้ได้ดี มีมูลค่าเพิ่มสูง  แต่ก็ควรต้องมีระบบประกันภัยเข้ามากำกับด้วย เพื่อให้ทุกอย่างมีมาตรฐาน ที่วางใจได้

ในทางกลับกัน การเตรียมข้อมูลสำหรับผู้บริหารพื้นที่และผู้มาเยี่ยมเยือนให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับความเปราะบางของระบบนิเวศของถ้ำที่เปิดให้เข้าชมได้ก็เป็นสิ่งจำเป็น

บางถ้ำควรมีเงื่อนเวลาของปีที่ต้องปิด ไม่ว่าเพราะเหตุด้านความเสี่ยงเรื่องน้ำป่า น้ำใต้ดิน หรือจะเพราะระบบนิเวศน์ต้องได้รับการพักฟื้นสม่ำเสมอ

บางถ้ำอาจพอจะจัดวางแสงสว่าง ชนิดหลอด LED ซึ่งจะไม่ร้อน ไม่ทำลายความชื้นของผนังถ้ำ หรืออาจมีราวจับ มีขั้นเหยียบเพื่อการเข้าถึงอย่างปลอดภัย ที่ไม่ให้กระทบนิเวศน์ของถ้ำมากเกินไปได้

บางถ้ำมีประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เร้นลับของคนท้องถิ่น

ก็ต้องสื่อสารขอความเห็นจากภาคีในพื้นที่ แล้วทำระบบแนะนำให้ผู้มาเยือนต้องคำนึงถึงการเคารพต่อพื้นที่เป็นพิเศษ

การสร้างการมีส่วนร่วมโดยชุมชนอย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดความยั่งยืนสันติสุขมากกว่าวิธีอื่นๆ

การถ่ายทอดความรู้แก่ชาวบ้าน เยาวชนในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถร่วมรับประโยชน์จากการการมีถ้ำอยู่ใกล้แหล่งอาศัยก็ควรมีอย่างต่อเนื่อง

บางพื้นที่ เราสามารถเปลี่ยนพรานผู้เคยล่า กลายมาเป็นล่ามผู้นำทางและเล่าเรื่อง

เราอาจสามารถเปลี่ยนการหาประโยชน์จากการลักลอบเผา มาเป็นผู้หวงแหนความชื้นของพื้นที่เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออาชีพนำทางเดินป่า หรือเป็นพื้นที่ฝึกทักษะให้เยาวชนเข้าค่าย

สถาบันการศึกษาควรได้รับการสนับสนุนการพัฒนาความรู้เฉพาะทาง เพื่อให้มีฐานะเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการและความรอบรู้ที่จำเป็นในการคุ้มครอง อนุรักษ์ หรือใช้ประโยชน์จากถ้ำในแง่มุมต่างๆ อย่างยั่งยืน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ถ้ำต้องถูกยกย่องให้เป็นห้องเรียนของเราเสมอ

และระลึกเสมอ ว่าถ้ำเป็น “ของสงวน” ที่หาได้ยาก

ถ้ำไม่ได้มีไว้เพียงสนองเงินตรา หรือความสนุกเท่านั้น

เพราะถ้ำมีบทบาทของเขาเองอยู่ในวงจรธรรมชาติ

เราจึงต้องสงวนทรัพยากรนี้ไว้เพื่อให้เราและคนรุ่นถัดๆ ไป

ใช้เรียนรู้ระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมา

เรียนรู้ที่เราจะเข้าใจข้อจำกัดของถ้ำ

เรียนรู้ข้อจำกัดของเรากันเอง ในการเข้าไปในดินแดนอัศจรรย์ของเปลือกโลก

จากเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง และอีกหลายๆ แห่งในไทยและในโลก

เราควรมีสถาบันการเรียนรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงในการเข้าถ้ำ

เรียนรู้การกู้ภัยในถ้ำ

รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคในการสื่อ เพื่อให้คน เคารพธรรมชาติ

และเคารพในความเชื่อของคนในพื้นที่

เรียนรู้วิธีทำการตลาดให้กับถ้ำ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องให้น่าสนใจ

เรียนรู้วิธีจัดบริการสนับสนุนจากผู้ประกอบการรายเล็กๆ เป็นระบบที่เป็นธรรม และมีเสน่ห์สำหรับการเข้ามาของนักเดินทาง ไม่ว่าจะมาพักค้าง หรือไม่พักค้าง

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งมีการจัดการในตัวแหล่งโดยผู้มีความรู้ แต่รอบทางเข้ายังมีผู้ที่ทำตรงข้าม ซึ่งไม่ส่งเสริมความยั่งยืน

 เช่น บริการลานจอดควรอยู่ห่างออกไปเพื่อให้มีเส้นทางเดินชมธรรมชาติก่อนเข้าถึงถ้ำ เพื่อจะได้มีจังหวะให้ปลุกเร้าความเคารพที่พึงมีต่อระบบนิเวศน์

จะปลุกเร้าโดยป้าย จะปลุกเร้าโดยผู้สื่อความหมายประจำถิ่นก็ได้ จัดให้มีเส้นทางแยกสำหรับจักรยาน หรือรถไฟฟ้าเพื่อช่วยพานักท่องเที่ยวสูงอายุ หรือผู้พิการ คนมีครรภ์หรือเด็กเล็กเข้าถึงที่หมายได้แบบไม่ลำบากเกินไป

มีบริการให้เช่าอุปกรณ์เพื่อการเข้าถ้ำที่เหมาะสม ตั้งแต่แสงส่องสว่างส่วนบุคคล หมวกกันกระแทก ถุงมือ รองเท้าที่เหมาะสม ที่รับฝากของ เพื่อจะได้ไม่มีการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในพื้นที่เปราะบางโดยไม่จำเป็น  หรือไม่ตั้งใจ แถมยังอาจไปเกาะเกี่ยวปุ่มหินหรือราวจับในระหว่างเดินชมด้วย

การจัดระเบียบการตั้งร้านจำหน่ายของที่ระลึก สินค้าท้องถิ่น จุดบริการล่ามและผู้นำทาง ป้ายบอกทาง  ป้ายแสดงราคามาตรฐาน

มีระบบออนไลน์ การจอง การจ่าย ที่ใช้ง่าย เป็นต้น

มนุษย์ยังรู้จักเปลือกโลกได้อีกมาก และเรายังอาจใช้ประโยชน์หรือทำประโยชน์ให้กับระบบนิเวศน์ได้อีกมากเช่นกัน

ขอเพียงเราสามารถบอกกันและกัน ผ่านประสบการณ์ของการท่องเที่ยวที่มีถ้ำเข้ามาเพิ่มเป็นองค์ประกอบเสริมเพื่อกระตุ้นให้เรา

เคารพธรรมชาติ ระบบนิเวศน์และเคารพกันและกันให้มากเพียงพอ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา