ที่รัฐสภา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยกล่าวว่า ด้วยปรากฏ ข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงเข้าทำนอง ‘ข้าวของแพง ค่าแรงถูก’ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงกาiบริหารของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกัน มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าสองล้านคนและเสียชีวิตกว่า 2 หมื่นคน ขณะที่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมายิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้าการจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนก็ล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ
ต่อมาก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์ รวมทั้งเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคจนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกลับมีข้อมูลว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน การแก้ปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์ขาดองค์ความรู้และภูมิปัญญา เน้นแก้ปัญหารายวัน ขณะเดียวกันสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม การแก้ปัญหาประมงล้มเหลวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับแสนราย
การปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียว เหตุเพราะรัฐบาลขาดความจริงใจที่จะปฏิรูปการเมือง เช่น เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ระบบการเมืองไทยถอยหลังไปกว่า 40 ปี
การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นหลัก การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน จากรายงาน ของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและผลวิจัยจากภายนอกพบว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริตสูงมาก ส่งผลทำให้อันดับการทุจริตคอร์รัปชันโลกของไทยสูงขึ้นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศอย่างกว้างขวางทุกพื้นที่และยังเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ไปยังหลายประเทศ จนทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายไปทั่วโลก
จึงถือได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นวิกฤตของประเทศที่จะต้องมีการระดมความคิดเห็นและหามาตรการเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการการชดเชยเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภคที่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้า
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นจึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยจะได้ซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว และร่วมกันหาข้อสรุปเพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงเป้าหมาย อันจะยังประโยชน์และลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนต่อไป
ข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พรรคฝ่ายค้านมีเป้าหมายที่จะซักถามข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นและเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะในขณะนี้ประชาชนอยากรู้ว่าภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้เหตุใดชีวิตของเขาถึงต้องลำบากยากแค้น ทุกข์ยากแสนสาหัส ความหวังในการดำเนินชีวิตของเขาริบหรี่ ลูกหลานไม่มีอนาคต อีกทั้งเป็นปัญหาที่คณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา และไม่รู้ว่าวิธีแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างไร
ญัตตินี้เป็นญัตติที่จะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ ‘แพงทั้งแผ่นดิน จนทั้งแผ่นดิน พังทั้งแผ่นดิน’ จนพี่น้องประชาชนอาจต้องตายเกลื่อนทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ ความล้มเหลวจนปัญญาในการแก้ปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จนสร้างปัญหาและภาระให้พี่น้องประชาชน ความผิดพลาดในการบริหารจัดการเงินกู้ การกู้เงินจำนวนมหาศาลแต่ไม่นำเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ จนประเทศหนี้ท่วม ประชาชนหนี้ล้น จนถึงถึงวิกฤตงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องเหมาะสม
ของแพงค่าแรงถูก เป็นความผิดพลาดในการบริหารต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกิดเกิดภาวะเงินเฟ้อ กลายเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่า ‘เงินฝืด ราคาเฟ้อ’
ราคาน้ำมันที่แพงขึ่นอย่างมาก เป็นเพราะโครงสร้างการบริหารจัดการที่บกพร่อง วิธีคิดในการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด และสถานการณ์ขณะนี้ รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาด้วยการเอาคนจนไปอุ้มคนรวย โยนภาระให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนชินเพื่อแบกราคาน้ำมันดีเซล
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศย่ำแย่มาโดยตลอด อันเนื่องมาจากกฎหมายไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขัน มีการผูกขาดไม่เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน บริบทของประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุน ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยต้องล้มหายตายจาก
ประเทศสูญเสียโอกาสอย่างมากในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ยึดอำนาจ 2557 ไม่มีประเทศใดยอมรับและไม่มีใครเชื่อมั่นประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมในการทำโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟความเร็วสูง แม้ในอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีการวางแผนการดำเนินการเอาไว้แล้วแต่กลับถูกระงับยับยั้งและยกเลิกไป ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายโอกาสของประเทศและประชาชนครั้งสำคัญ
ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลก็ทำให้ประเทศและประชาชนเสียโอกาสอย่ามาก แทนที่จะสร้างงานสร้างรายได้ สร้างโอกาส แต่กลับปล่อยให้กิจกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มีกลไกการโกง การหาประโยชน์จากระบบ อย่างเรื่องไฮบริด สแกม ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก
รายได้ของประเทศซึ่งเป็นความหวังเดียวของประชาชน คือ ภาคการท่องเที่ยว กลับล้มเหลวหดตัว แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ กลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างกับประเทศไทย
เกษตรกรจมทุกข์ ทั้งราคาพืชทางการเกษตรตกต่ำอย่างหนักและต่อเนื่อง ซ้ำร้ายรัฐบาลนี้ยังไม่กล้าบอกความจริงกับประชาชนและปกปิดการระบาดของโรคระบาดสัตว์ลัมปีสกิน แม้ฝ่ายค้านได้เสนอญัตติเรื่องนี้เข้าสู่สภา รวมไปถึงการตั้งกระทู้ถามสด แต่รัฐบาลก็ยังไม่ยอมประกาศเป็นโรคระบาด ถือเป็นความอ่อนด้อยและความผิดพลาดของรัฐาลอย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องชี้ให้เห็นว่า เรื่องนี้ใครคือผู้ได้ประโยชน์และใครเป็นผู้เสียประโยชน์
อีกทั้งผลสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมารัฐบาลอาศัยเกาะโรคระบาดเพื่อการดำรงอยู่ พยายามเลี้ยงไข้และอยู่รอดมาจนถึงวันนี้ แต่ผลจากการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ผิดพลาด การจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้า ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจนถึงวันนี้
ปัญหาการประมง การออก พรก.การประมง 2558 ในสมัยรัฐบาล คสช. เพื่อแก้ปัญหาใบเหลืองของไอยูยู แต่กลับก่อปัญหากับพี่น้องประชาชนอย่างมาก รัฐบาลออกกฎหมายนี้เพื่อปกป้องการส่งออกสินค้าประมงปีละ 5 พันล้านบาท แต่ได้ทำให้ผู้ประกอบการประมงเสียหายถึงปีละ 2 แสนล้านบาท อีกทั้งที่ผ่านมาพี่น้องชาวประมงพยายามเสนอกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมอนุมัติให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลนี้ได้ทำให้การศึกษาล้มเหลว แต่ปัญหายาเสพติดกลับเฟื่องฟู จนพี่น้องประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เกิดเหตุ ลูกฆ่าพ่อ พ่อฆ่าแม่ หลานฆ่ายาย สังคมปั่นป่วนวุ่นวายไปทั้งหมด
วิกฤตการเมืองก่อปัญหาครบวงจร ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีต้นเหตุมาจากรัฐบาลไม่สนับสนุนการปฏิรูปการเมือง แล้วยังมีพฤติการณ์ทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย ทำลายระบบรัฐสภา ก่อเกิดธุรกิจการเมือง ทำให้สภาเสื่อมถอย มีการแจกกล้วยกลางสภา เป็นเหตุให้การปฏิรูปการเมืองล้มเหลว
รัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจแล้วยังมุ่งสืบทอดอำนาจ และลดทอนอำนาจของประชาชน สร้างปัญหากับการกระจายอำนาจ โดยระงับการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น แล้วใช้ฐานอำนาจท้องถิ่นในลักษณะของการต่อรองเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจ ขณะเดียวกันก็วางโครงสร้างอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม เอื้อพวกพ้อง เห็นแต่ประโยชน์พวกพ้อง ไม่เห็นหัวพี่น้องประชาชน ระบบตรวจสอบบิดเบี้ยว บิดเบือนกลไกตรวจสอบ โดยเฉพาะระบบรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน
ผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากอย่างง่อนแง่น รัฐบาลมี 255 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปเพียง 5 เสียง แม้จะใช้กลไกที่ไม่ชอบธรรมทำให้ได้เสียงมาเพิ่มเป็น 275 เสียง แต่นั่นคือกับดักการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสมือนดีแต่ท่านกำลังทำลายล้างประชาธิปไตย ซึ่งแสดงผลออกมาโดยสะท้อนจากเสถียรภาพของรัฐบาล หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา องค์ประชุมที่เป็นหน้าที่ของเสียงข้างมาก คือ ฝ่ายรัฐบาล กลับไม่เคยถึงกึ่งหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีจะต้องตอบให้ชัดเจนว่าจะยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้างหรือไม่ รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลตีตกกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ซ้ำยังอุ้มหายกฎหมายไปดองไว้ 60 วันอีกหลายฉบับ
ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง แต่พฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี ยุค คสช. เป็นต้นมา ได้ใช้อำนาจพิเศษแบบเผด็จการมาตลอดโดยตลอด และส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน หากไม่แก้ไขอาจจะถึงขั้นพังทั้งแผ่นดิน ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขที่ตัวนายกรัฐมนตรี
วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องเร่งแก้ไข จะต้องหยุดเลือดที่กำลังไหลออก หยุดทรมานพี่น้องประชาชน อย่างเร่งด่วน ก่อนที่พี่น้องประชาชนจะทุกข์ยากเดือดร้อนมากกว่านี้ และสิ่งที่จะหยุดได้ คือตัวนายกรัฐมนตรีเอง ด้วยการประกาศขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือถ้าจะแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทันที คือ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านซึ่งมีทั้งหมด 15 ประเด็น ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรี พร้อมรับฟังการอภิปรายฯ ครั้งนี้ ด้วยเหตุด้วยผล อะไรที่เป็นประโยชน์พร้อมรับไปแก้ไขดำเนินการ ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด ร่วมงานกับ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง อย่างไรก็ดี หลายท่านมองว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถ ซึ่งอยู่กับความเชื่อมั่น และผู้ให้ความเชื่อมั่นคือประชาชนทั่วประเทศ ทั้งนี้แม้ว่าฝ่ายค้านจะเคยบอกว่าให้นายกรัฐมนตรีวางบทบาทเหมือนรามเกียรติ์ อย่างไรก็ดี ประเทศชาติ ไม่ได้เหมือนเรื่องราวในรามเกียรติ์
ประเด็นแรก กล่าวถึงการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลซึ่งขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเดิมในปี 2557 เป็นการแต่งตั้งจากรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐมนตรีถึง 32 คน เป็นคนใหม่
ประเด็นการขยายเพดานหนี้ ข้าวของแพง ค่าแรงถูก และเรามีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจ
สถานการณ์โควิดเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งหมดในเชิงโครงสร้าง ทั้งการแก้ไขมาตรการ กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอ และครบถ้วน จนไทยได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ
การท่องเที่ยว ได้มีการแก้ไขปัญหา และจะมีการชี้แจงต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลนี้ ได้พัฒนาโครงสร้างในภาพรวมมามาก ซึ่งอยากทราบว่ารัฐบาลเก่าๆ ได้พัฒนาโครงสร้างที่เป็นประโยชน์กับประเทศบ้างหรือไม่
กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกา ตอนนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าไปแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแล้ว พร้อมชี้แจง ไม่มีการปดปิด อย่างไรก็ดี มีคนเก็บกักเนื้อหมู รัฐบาลจะต้องนำคนผิดมาลงโทษ ทั้งนี้อาหารราคาสูง เป็นไปตามความต้องการของตลาด ตามฤดูกาล ซึ่งได้สั่งการให้มีการตรวจสอบต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแก้ไขในทันที นายกรัฐมนตรีไม่เคยโทษใคร ขอให้ทุกคนมาร่วมมือกัน
เรื่อง PM 2.5 มีแนวทางการแก้ไข อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลไม่ได้ทำงานสนองความพอใจเพียงคนบางกลุ่ม ประชาชนทุกคนมีรายได้ต่างกันจะทำอย่างไรให้ปรับตัวได้ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแล นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนทุกคนมีความสุข
ประมงล้มเหลว รัฐบาลต้องการสร้างความเป็นธรรมให้ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ไม่ให้เกิดผลกระทบ เยียวยา ต้องการปฏิรูปทั้งระบบ
การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น รัฐบาลพร้อมกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น มีรายได้เพียงพอ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน หาเงินเติมให้ ไม่ได้หวงอำนาจ
ยาเสพติด หลายประเทศได้ชื่นชมการทำงานของไทย และเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการในทุกด่านการตรวจสอบ มีการจับกุมทุกวัน
บริหารทุจริต อย่าพูดประเด็นที่ไม่มีหลักฐาน นายกรัฐมนตรียืนยัน ไม่มีการทุจริต โดยเด็ดขาด ทั้งนโยบาย เจตนารมย์ และตัวนายกรัฐมนตรีเอง
ทุกเรื่องที่มีการกล่าวหา จะมีการชี้แจงอย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ตั้งแต่ปี 2564 เกิดสถานการณ์โควิด และทุกประเทศก็ประสบปัญหาร่วมกัน โดยไทยสามารถฉีดวัคซีน เกินเป้าหมาย 100 ล้านโดส สำเร็จก่อนเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุมัติ ทำให้ เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 พลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดหมายประเทศรอบบ้านมีปัญหาไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ลดจำนวนลูกหนี้ที่ต้องการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย จาก 12.5 ล้านบัญชี เหลือต่ำกว่าครึ่ง หรือกว่า 6 ล้านบัญชี มีการจ้างงานมากขึ้น จำนวนผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ของปี 2564 นักศึกษาจบใหม่ ปี 2563 – 2564 ทำงานในภาคเอกชนกว่า 66.78% ทำงานในภาครัฐ 20% ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว มีการเปิดกิจการใหม่ในปี 2564 มากกว่าบริษัทที่ปิดกิจการ กว่า 4 เท่าตัว ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน สูงขึ้นกว่า 600,000 ล้านบาท ดีกว่าก่อนโควิด-19 การขอรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 2,339 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7.7 แสนล้านบาท กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ การส่งออกปี 2564 ดีขึ้นมาก มีมูลค่ารวม 8.5 ล้านล้านบาท ตัวอย่างการลงทุนที่สำคัญ Cloud Service โครงการผลิตอาหารสัตว์ชีวภาพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพบภาคเอกชน และรับทราบว่าเอกชนพอใจการปรับปรุงมาตรการของไทยเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุน ไม่ใช้การเอื้อประโยชน์ หรือขายทรัพยากรชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตามข้อตกลง
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังของไทยจากทั้ง 3 สถาบันการจัดอันดับโลก ได้แก่ S&P Fitch Ratings และ Moody’s ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ BBB+ และอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ภาคการเงินการคลังของไทยยังเข้มแข็ง และมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง ถึงแม้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมาย สำคัญที่สุด คือ การที่คนไทยได้มีความสุขในการฉลองปีใหม่ปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 24 เดือน ซึ่งมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ คำนึงถึงความสมดุลทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจควบคู่กัน
ด้านมาตรการสาธารณสุข ไทยเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ในประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ ดัชนี Global Health Security Index (GHS) ปี 2021 และประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย
ปัญหาเงินเฟ้อ เกิดจากความต้องการที่มากขึ้นจากการฟื้นตัวของโลก ราคาพลังงานแพงขึ้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการดูแลราคาปัจจัยการผลิตที่มีผลกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค มีการเตรียมการอย่างเป็นระบบและการสั่งการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ซึ่งในปี 2565 ไทยพร้อมเปิดประเทศอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19 หลายประเทศใช้ไทยเป็นตัวอย่าง ไทยเตรียมยา เตรียมวัคซีน และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ มีแผนเผชิญหน้า แผนอนาคต เป็นการทำงานร่วมกัน ของทุกพรรค ในรัฐบาล รัฐบาลควบคู่กับการ “แก้หนี้ภาคครัวเรือน” สร้างงานสร้างอาชีพ มีการจัดทำโครงสร้างหนี้ เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครู หนี้ข้าราชการ มีการแก้ไขแล้ว และเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ต้องครอบคลุมการเป็นหนี้ทุกแบบ การลดอุปรรคการเข้าถึงเงินทุน รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาทุกมิติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงต่อไป
รัฐบาลนี้ จะไม่มีความสุขหากประชาชนไม่มีความสุข จึงมีการจัดโครงการเพื่อประชาชน เยียวยาประชาชน เสริมชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน อาทิ โครงการคนละครึ่ง ทั้งนี้ ความสุขความพอใจอยู่ที่การบริหาร และงบประมาณที้มี ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งนี้ หากมีโครงการไหน ที่ไม่ชอบ ขอให้ฝ่ายค้านพูดในสภาได้เลย
มาตรการทางสังคม สังคมไทยอ่อนไหว ต้องทำให้เข้มแข็ง ตอบสนอง อย่าให้สังคมอ่อนแอ ความรักความ สามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ จากสถานการณ์ต่างประเทศ ชาติ ศาสนา พหุวัฒนธรรม สถาบันมีความแตกต่างกันในทุกประเทศ เราควรนำปัจจัยทุกอย่างในประเทศนำมาเสริมสร้างความสามัคคี ไม่ใช่ความแตกแยก นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลความแตกแยกในสังคม แม้จะชินแล้วจากคำพูดที่หยาบคาย ความรุนแรง การฝ่าฝืนกฎหมาย และด่าทอเจ้าหน้าที่
แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง โมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เราจะไม่เพียงมองแค่การลด PM 2.5 ต้องมองไปถึงสังคมคาร์บอนต่ำ ขอให้พิจารณาตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มทำในรัฐบาลนี้ รวมทั้งรัฐบาลได้ผลักดัน การก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutrality และ Net Zero) พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมดิจิทัลระดับสูง การผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจระเบียงภาคตะวันออก: EEC
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงปัญหาน้ำมันรั่ว ปัญหา PM 2.5 มีส่วนที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ต้องทำงานร่วมกัน น้ำมันรั่วก็เป็นการดำเนินการด้วยการบูรณาการ ผิดต้องลงโทษ เยียวยา ประชาชน เป็นไปตามการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในทุกเรื่องจะมีการชี้แจงต่อไป ขอให้ใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในการชี้แจง ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันไม่โกรธ พร้อมแก้ไขปัญหา ตามที่มีข้อเสนอแนะมา หากเป็นเรื่องที่ดี
บทความที่เกี่ยวข้อง
ใหม่ อิทธิพันธ์ บัวทอง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารข่าวช่อง 8 RS mall หมายเลข 27 , อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ true4U ดิจิตอลทีวี, กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อดีตผู้อำนวยการข่าว PostTV, อดีตบรรณาธิการข่าวTPBS อดีตรองผู้อำนวยฝ่ายข่าว TNN24 อดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองสถานีข่าว TNN 24 และASTV อดีตบรรณาธิการข่าวน.ส.พ.วัฏจักร